วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

On 10:15 by EForL in    No comments
ในสมัยพุทธกาล
นางพราหมณีชื่อธนัญชานี เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมาก
วันหนึ่ง ขณะที่นางนำอาหารมาให้พราหมณ์ผู้เป็นสามีรับประท่าน ได้ก้าวเท้าพลาดจึงอุทานออกมาว่า "นโม ตัสสะ ภควโต"
พราหมณ์ผู้เป็นสามีเมื่อได้ยินดังนั้น ก็ด่านางพรามณีนั้นว่า "หญิงถ่อย หญิงอัปมงคง" เลิกพูดยกย่องนักบวชคนนั้นได้แล้ว
นางพราหมณีตอบด้วยน้ำเสียอันอ่อนโยนไม่แสดงถึงอาการโกรธกลับไปว่า พราหมณ์ ฉันยังไม่เคยเห็นใครที่ควรกล่าวยกย่องเท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยในโลกนี้
พราหมณ์ผู้เป็นสามีเมื่อได้ยินดังนั้น ถึงกับเลือดขึ้นหน้าโกรธจัด คิดจะฆ่านางพราหมณีผู้เป็นภรรยาสุดที่รักให้ตายเสียให้ได้ในวันนี้เลย แต่ด้วยความรักจึงมิอาจทำอย่างที่คิดได้
จึงเขาไปคว้ามีดที่ลับไว้อย่างดี ออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังวัดเวฬุวันอันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อมาถึงวัดก็ตรงดิ่งเข้าไปที่กุฏิของพระพุทธองค์เลยทีเดียว
พระพุทธองค์ทรงรู้เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นอย่างดี จึงนั่งหลับตาสงบสำรวมอยู่ราวกับภูมิเขาศิลาที่ตั้งตระหง่าไม่สะท้านหวั่นไหวด้วยแรงลมจากทิศไหนๆ
พอนายพราหมณ์ได้เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์ แค่แว็ปแรกเท่านั้นแหละความโกรธที่กำลังพลุกพลานอยู่ในร่างกายก็เริ่มสงบลงทันที
รีบเข้าไปกราบก้นโด่งเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวทักทายพอให้ได้ระลึกนึกถึงกันเสร็จ ก็เปิดโอกาสให้นายพราหมณ์ได้ถามปัญหาที่ค้างขาใจจนเป็นเหตุให้ถ่อสังขารมาถึงนี่
นายพราหมณ์เมื่อได้โอกาสจึงถามว่า
          บุคคลฆ่าอะไรได้ ย่อมนอนเป็นสุข
           ฆ่าอะไรได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
           พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรม
           อะไรเป็นธรรมอันเอก.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
           บุคคลฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอน
           เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก
           ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย
           ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีราก
           เป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่าบุคคลฆ่า
           ความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เกิดความเลื่อมใสแล้วกล่าวคำยกย่องพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง 
หรือส่องประทีปในที่มืด ฉะนั้น
ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ธนัญชานีสูตร 25/195 (มมก.)


วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559


ชาวพุทธเถรวาท คือ ชาวพุทธที่ยึดมั่นในวาทะของพระเถระ ซึ่งก็คือพระอรหันต์ 500 รูป ที่ประชุมกันทำสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน เพื่อรวบรวมเรียบเรียงคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ และแบ่งกันทรงจำสืบทอดมาถึงปัจจุบัน คือพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกบาลี เป็นแม่บทคำสอนที่ชาวพุทธเถรวาทให้ความเคารพศึกษา เป็นกรอบคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท



มีข้อสังเกตเรื่องคำสอนที่ชาวพุทธเถรวาทเราควรตระหนักรู้ก็คือ
1.       แม้พระอรหันต์ 500 รูปก็ยังมีความเห็นในประเด็นพระธรรมวินัยบางข้อไม่ตรงกัน
ในพระวินัยปิฎก จูฬวรรค ปัญจสติกขันธกะ ขุททานุขุททกสิกขาปทกถา  ว่าด้วยสิกขาบทเล็กน้อย  ( พระไตรปิฎกแปลฉบับ มจร. เล่ม 7 ข้อ 441 หน้า 382 )  ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1 พระอานนท์ได้กล่าวกับพระอรหันต์ทั้งหลายว่า 
ในเวลาจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ว่า  อานนท์ เมื่อเราล่วงไป  สงฆ์หวังอยู่ก็พึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้
พระอรหันต์ทั้งหลายถามว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือว่า                ‘ พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทข้อไหนที่จัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ท่านพระอานนท์ตอบ ท่านผู้เจริญ กระผมไม่ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า                   พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทข้อไหน ที่จัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ภิกษุผู้เถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ยกเว้นปาราชิก 4 สิกขาบท ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ภิกษุผู้เถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่ายกเว้นปาราชิก 4 สิกขาบท สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ภิกษุผู้เถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า  “ ยกเว้นปาราชิก 4 สิกขาบท สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท อนิยต 2 ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ภิกษุผู้เถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า  “ ยกเว้นปาราชิก 4 สิกขาบท  สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท อนิยต 2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์  30 สิกขาบท ปาจิตตีย์  92 สิกขาบท ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ภิกษุผู้เถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า  “ ยกเว้นปาราชิก 4 สิกขาบท  สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท อนิยต 2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์  30 สิกขาบท ปาจิตตีย์  92 สิกขาบท  ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายมีความเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายพระมหากัสสปะจึงเสนอ ญัตติว่า จะไม่เพิกถอนสิกขาบทข้อใดๆ และได้รับการรับรองจากพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นเอกฉันท์
ลองคิดดูว่าหากพระอรหันต์แต่ละกลุ่มยืนกรานความเห็นของตน ไม่ยอมรับความเห็นต่างของพระอรหันต์กลุ่มอื่น คณะสงฆ์ก็มีโอกาสแตกออกเป็น 5 กลุ่มตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว
ระดับพระอรหันต์และไม่ใช่พระอรหันต์ธรรมดา แต่เป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการคัดเลือกมาทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎกให้เราศึกษาในปัจจุบัน มีพระอสีติมหาสาวกหลายรูป อาทิ พระมหากัสสปะ พระอุบาลี พระอานนท์ เป็นต้น ก็ยังมีความเห็นบางประเด็นไม่ตรงกัน แล้วชาวพุทธปัจจุบันที่ยืนกรานความเห็นของตนหรือเชื่อตามความเห็นของพระภิกษุนักวิชาการบางรูปว่าถูกต้อง ปฏิเสธและโจมตีผู้ที่เห็นต่างจากตนอย่างรุนแรง ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาหรือยัง เก่งกว่าพระอสีติมหาสาวกหรือเปล่า การโจมตีผู้เห็นต่างจากตนมีแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ  ผิดแนวทางปฏิปทาของพระอรหันต์ทั้งหลายในอดีต



2.       การศึกษาและเผยแผ่ธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีคำสอนหลายระดับ
พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเป็นแม่บทคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท
- มีคัมภีร์อรรถกถาเรียบเรียงโดยพระอรรถกถาจารย์ในยุคหลังพุทธกาลราว 900 ปีเศษ   เป็นคู่มืออธิบายทำความเข้าใจพระไตรปิฎก
- มีคัมภีร์ฎีกาเป็นคู่มืออธิบายเนื้อหาในคัมภีร์อรรถกถาหรืออธิบายพระไตรปิฎกบางครั้งอธิบายในแง่มุมที่แย้งกับที่คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้
- มีคัมภีร์อนุฎีกา เป็นคู่มืออธิบายเนื้อหาในคัมภีร์ฎีกาหรืออธิบายคัมภีร์อรรถกถาหรืออธิบายพระไตรปิฎก 
- มีคำสอนของพระเถระทั้งในรูปคำเทศน์สอน หรือเขียนเป็นหนังสือธรรมะ อธิบายขยายความคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น คำสอนของท่านพุทธทาส หลวงปู่ หลวงตา พระเถระต่างๆ หรือแม้ฆราวาสบางท่านที่มีความรู้ดี
มีบางคนคิดว่าคำสอนที่ถูกต้องจะต้องเป็นคำสอนที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ จะนำไปสู่แนวโน้มที่จะปฏิเสธคำสอนระดับอื่นๆทั้งหมดเริ่มตั้งแต่ปฏิเสธคำเทศนาธรรมของพระเถระ  ปฏิเสธอนุฎีกา  ปฏิเสธฎีกา  ปฏิเสธอรรถกถา และเลยเถิดไปจนถึงปฏิเสธเนื้อหาพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นคำกล่าวของพระอรหันต์เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ เป็นต้น  ยอมรับเฉพาะพุทธวจนะเท่านั้น และยังมีแนวโน้มจะปฏิเสธแม้พุทธวจนะในส่วนที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตน เช่นส่วนที่มีการกล่าวถึง นรก สวรรค์ ที่เป็นภพภูมิ เทวดา นางฟ้า ยักษ์ เป็นต้น
หากทำตามความเชื่อของคนกลุ่มนี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะทำได้โดยนำพระไตรปิฎกมาอ่านให้ฟัง  ห้ามอธิบายเพิ่มเติมตามความเห็นของตน ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นจริงพระพุทธศาสนาคงสาบสูญไปจากโลกนี้นานแล้ว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ฟังไม่รู้เรื่อง
ความจริงการจะวินิจฉัยว่าคำสอนใดถูกต้องเป็นประโยชน์หรือไม่ต้องดูที่ความสอดคล้องกับหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ดูที่ว่าต้องมีอยู่ในพระไตรปิฎก คำสอนของพระเถระทั้งหลายแม้ไม่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก แต่หากสอดคล้องกับหลักธรรมในพระไตรปิฎก คำสอนนั้นก็เป็นคำสอนที่ดี มีประโยชน์ ควรศึกษา
ดังนั้นคำสอนของพระเถระทั้งหลายที่เทศนาสั่งสอนประชาชนมาแต่โบราณกาล  เขียนหนังสือธรรมะอธิบายหลักธรรมให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ คือสิ่งดีมีประโยชน์
เปรียบเหมือนกฎหมาย รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายแม่บท แต่การวินิจฉัยว่ากฎหมายต่างๆถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่ใช้วิธีดูว่าเนื้อหาในกฎหมายเหล่านั้นมีในรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ให้ดูเพียงว่าเนื้อหาของกฎหมายนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้



3. คำสอนในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ในส่วนเนื้อหาหลักธรรมเช่นอริยมรรคมีองค์ 8 มักกล่าวไว้เพียงสั้นๆ เช่นสัมมาสมาธิเกือบทั้งหมดก็กล่าวไว้เพียงว่า หมายถึง รูปฌาน 4 แต่ไม่มีการอธิบายว่าจะฝึกให้ได้รูปฌาน 4 ต้องปฏิบัติอย่างไร
สายปฏิบัติใหญ่ๆในประเทศไทย ล้วนอิงหลักการจากพระไตรปิฎกแล้วมาอธิบายขยายความเพิ่มเติมถึงวิธีการปฏิบัติเองทั้งสิ้น อาทิ
สายสัมมาอะระหัง อิงหลักสติปัฏฐาน 4 จากพระไตรปิฎก คือ การตามเห็นกายในกาย ตามเห็นเวทนาในเวทนา ตามเห็นจิตในจิต  ตามเห็นธรรมในธรรม  แต่ในพระไตรปิฎกก็ไม่มีการกล่าวถึงกายภายในที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จนถึงธรรมกาย
สายพองหนอยุบหนอ อิงหลักสติปัฏฐาน 4 เช่นเดียวกัน แต่ในพระไตรปิฎกไม่มีการกล่าวถึงการก้าวหนอ ยกหนอ เหยียบหนอใดๆเลย
สายพุทโธ อิงหลักอานาปานสติ จากพระไตรปิฎก แต่วิธีการปฏิบัติที่สอนกันอยู่ก็ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
หากจะเอาเฉพาะคำสอนที่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น ก็ต้องเลิกการปฏิบัติธรรมทุกสายในประเทศไทยทั้งหมด  ซึ่งมีแต่นำความเสื่อมมาสู่พระพุทธศาสนาและสังคมไทย
โดยสรุป หลักการวินิจฉัยคำสอนที่ดี คือ ดูความสอดคล้องกับหลักการในพระไตรปิฎก  ไม่ใช่การดูว่าคำสอนนั้นมีในพระไตรปิฎกหรือไม่  และอย่าเอาความเห็นความเชื่อของตนไปโจมตีผู้ที่เห็นต่าง  เพราะแม้แต่พระอรหันต์ 500 รูป  ที่เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระไตรปิฎกให้เราศึกษา  ก็ยังมีความเห็นในบางประเด็นที่ต่างกัน
ถ้าเป็นคำสอนไปในทางอกุศล เช่น สอนให้ดื่มเหล้า  จมในอบายมุข อย่างนี้ผิดกับหลักการในพระไตรปิฎกชัดเจน  เป็นคำสอนที่ผิด  แต่ถ้าเป็นประเด็นคำสอนที่เป็นไปในทางกุศล เช่น คำสอนด้านธรรมปฏิบัติ  ที่อาจตีความได้หลายแง่มุม  ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตน  อย่างนี้ไม่ควรจะยึดมั่นในความคิดของตนแล้วโจมตีผู้ที่เห็นต่าง  ตั้งใจปฏิบัติแบบที่ตนเชื่อและชอบไปดีกว่า

โดยรวม คำสอนที่สอนให้ละชั่ว ทำความดี ทำใจให้ผ่องใส สอนให้ประชาชนรักการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา คือคำสอนที่ดี สอดคล้องกับหลักการในพระไตรปิฎก

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ช่วงนี้เราได้ยินได้ฟังข่าวจากสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายแทบจะทุกวัน
ประเด็นที่คนในสังคมสนใจเป็นอย่างมากนั้นก็คือ การไม่ไปรับฟังข้อกล่าวหาของท่านเจ้าอาวาส สำหรับคนทั่วไปก็อาจจะสงสัยว่าทำไมท่านเจ้าอาวาสจึงไม่ไปรับฟังข้อกล่าวหาที่
ดีเอสไอเรียก แต่สำหรับคนที่ศึกษาและติดตามคดีสหกรณ์มาเป็นอย่างดี ก็พอจะเข้าใจสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร การที่เราไม่ศึกษาข้อเท็จจริงให้ละเอียดเสียก่อน แล้วไปวิจารณ์พระสงฆ์องค์เจ้าเลย ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนที่นำเสนอข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับวัดนี้ ก็ขอยกเรื่องราวในพระไตรปิฎกมาให้ประเทืองปัญญากันซะเล็กน้อยก่อน



มีเรื่องจริงเคยเกิดขึ้นแล้ว ในสมัยหนึ่ง ณ เมืองราชคฤห์ อหิวาตกโรคได้ระบาดอย่างหนัก ทำให้ชาวเมืองต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้แต่ท่านเศรษฐีประจำเมืองและภรรยาที่ว่าดูแลสุขอนามัยเป็นอย่างดี ก็ยังได้รับเชื้ออหิวาตกโรคนี้ด้วย
เมื่อรู้ตนและภรรยาไม่รอดแน่แท้แล้ว จึงสั่งดีกับลูกชายวัย 7 ขวบ ว่า “ทรัพย์สมบัติของตระกูลเรามีอยู่ 40 โกฏิ (สี่สิบล้าน) ฝังไว้ในที่โน้น ถ้าเจ้ารีบหนีออกไปตอนนี้ อาจจะมีชีวิตรอดกลับมาใช้ทรัพย์ แต่ถ้าไม่หนีไปในวันนี้ทรัพย์ทั้งหมดที่มีก็จะสูญเปล่าไปอย่างแน่นอน”
ลูกชายได้ฟังดังนี้แล้ว ก็ร้องไห้ด้วยความอาลัยในพ่อแม่ และร้องเพราะกลัวต่อมรณะภัยที่กำลังจะมาถึงตัว แต่ก็ทราบถึงความประสงค์ของพ่อแม่จึงไหว้เพื่อขอขมาท่านทั้งสองเป็นครั้งสุดท้าย แล้วรีบเก็บสิ่งของที่จำเป็นหนีเข้าไปอยู่ในป่า
12 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จากเด็กชายกลายเป็นหนุ่ม เขาเดินทางกลับมายังที่อยู่ของพ่อแม่อีกครั้ง ด้วยมาดของคนป่าหนวดเคราพะรุงพะรัง จนไม่มีใครในเมืองจำเขาได้ว่านี้คือลูกชายของเศรษฐี เมื่อมาถึงบริเวณบ้านเขารีบไปดูที่ฝังทรัพย์ ปรากฏว่าทรัพย์สมบัติที่พ่อแม่ฝังไว้ยังอยู่ จึงคิดว่า “ในเมื่อใคร ๆ จำเราไม่ได้ ถ้าเราขุดทรัพย์ขึ้นมาใช้สอย โดยที่เขาไม่รู้ที่มาที่ไปแห่งทรัพย์นี้ คนทั้งหลายจะเข้าใจว่าเราไปทำทุจริตมาแน่ ถ้าอย่างนั้น เราควรหางานสักอย่างหนึ่งทำก่อน แล้วค่อยทยอยนำทรัพย์นี้มาใช้ในยามจำเป็น”
(ขนาดได้ทรัพย์มาด้วยบุญของตนเองยังใช้สอยลำบาก เพราะเข้าใจว่าต้องมีพวกที่ริษยาอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นมาตามเบียดเบียนแน่)
ระหว่างที่ชายหนุ่มลูกเศรษฐีรับจ้างทำงานทั่วไปอยู่นั้น พระเจ้าพิมพิสารเสด็จตรวจแผ่นดินผ่านมาที่ทำงานของชายหนุ่มพอดี พระองค์เผอิญได้ยินเสียงของชายหนุ่มคนนี้เข้าจึงรำพึงขึ้นมาว่า “นี้เป็นเสียงของผู้มีทรัพย์มาก” นางสนมที่ติดตามพระองค์ ได้ยินคำรำพึงนั้น คิดว่า “พระราชาของเราคงไม่ตรัสอะไรเหลวไหลแน่” 
วันต่อมา นางสนมที่ได้ยินคำรำพึงนั้น คุยเรื่องที่ตนได้ยินให้ลูกสาวฟัง พร้อมกับชักชวนกันปลอมตัวเป็นคนพเนจร เพื่อจะได้เข้าไปพิสูจน์ว่าเจ้าหนุ่มคนนี้มีทรัพย์จริงหรือเปล่า
นางและลูกสาวเข้าไปหาชายหนุ่มด้วยอาการของคนพเนจร แล้วบอกว่ากับชายหนุ่มนั้นว่า เขาต้องการที่พักสัก 2-3 วัน ชายหนุ่มเกิดความสงสารจึงให้พัก ระหว่างที่พวกนางพักอยู่ในบ้านนั้น นางสนมผู้เป็นแม่หาอุบายเพื่อให้ชายหนุ่มได้เสียกับลูกสาวของตน
เพียงไม่นานก็เป็นไปตามแผน เมื่อทองเป็นแผ่นเดียวกันทุกอย่างก็ง่ายขึ้น นางออกอุบายต่อเพื่อให้มั่นใจว่าชายหนุ่มคนนี้มีทรัพย์มากจริงๆ พอได้ข้อมูลเพียงพอจนเกิดความมั่นใจแล้ว ก็ส่งข่าวไปยังพระเจ้าพิมพิสาร ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารเมื่อได้รับข่าวก็ส่งทหารไปบอกว่า ให้ชายหนุ่มมาเข้าเฝ้าพระราชาโดยด่วน 
ชายหนุ่มเกิดความแปลกใจว่าตนเองไม่เคยทำผิด และไม่เคยรู้จักกับพระเจ้าแผ่นดินมาก่อน ทำไมวันนี้จึงมีหมายเรียกให้ไปเข้าเฝ้า เขาเลยตอบทหารที่มาทำหน้าที่ส่งสารไปว่า “ตอนนี้มีกิจบางอย่างอยู่ไม่สะดวกที่จะไปในเวลานี้” แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สามก็บอกไปอย่างนั้น จนในที่สุดทหารต้องใช้กำลัง ชุดกระช่างลากดึงเพื่อให้ชายหนุ่มคนนี้เข้าไปเฝ้าให้ได้
เมื่อไปถึงราชวัง
พระเจ้าพิมพิสารถามว่า : เจ้าชื่ออะไร เพราะเหตุใดจึงปกปิดทรัพย์ไว้เป็นอันมาก
ชายหนุ่ม : ข้าพระองค์ชื่อกุมภโฆสก  ข้าพระองค์มีทรัพย์ไว้ใช้เท่าที่จะเป็น
พระเจ้าพิมพิสาร : อย่าพูดอย่างนั้น เจ้าจะลวงข้าทำไม ว่าแล้วก็แสดงกหาปณะ (เงินในสมัยนั้น) ที่ได้จากการใช้สอยของชายหนุ่มนั้น
เมื่อได้เห็นกหาปณะนั้นก็จำได้ว่าเป็นของตน จึงอุทานว่า “ฉิบหายแล้ว ทำไมกหาปณะเหล่านี้จึงได้มาอยู่กับพระราชา” แล้วก็เหลือบมองไปโดยรอบได้เห็นหญิงสองแม่ลูกนั่งอยู่ใกล้ ๆ กับพระราชา ก็พอเดาความเป็นไปเป็นมาออกว่าทรัพย์นั้นมาอยู่นะที่ตรงนี้ได้อย่างไร
ขณะนั้นเองพระราชาจึงตรัสว่า “พูดมาเถอะ ว่าทำไมจึงทำเช่นนี้”
ชายหนุ่ม : ที่ข้าพระองค์ไม่เปิดเผยทรัพย์ตั้งแต่แรก เพราะที่พึ่งของข้าพระองค์ไม่มี (เรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร)
พระเจ้าพิมพิสาร : แล้วคนเช่นเราไม่ควรเป็นที่พึ่งให้แก่เจ้าหรืออย่างไร
ชายหนุ่ม : ข้าพระองค์เคยได้ยินมาว่า แม้พี่น้องก็ฆ่ากันเองเพราะเรื่องเงินทอง นับประสาอะไรกับคนที่ไม่ใช่ญาติกัน
พระเจ้าพิมพิสาร : จริงอยู่เรื่องนั้นเคยมี แต่ไม่ใช่เราผู้เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธแน่
เมื่อชายหนุ่มมั่นใจว่าพระเจ้าพิมพิสาร สามารถเป็นที่พึ่งให้เขาได้ จึงบอกข้อมูลทุกอย่าง เมื่อพระราชาตรวจสอบข้อมูล พร้อมกับส่งคนไปตรวจทรัพย์ของชายหนุ่มนั้นแล้วว่าเป็นความจริงจึงแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมืองสืบต่อไป



การที่ DSI ตั้งข้อหาฟอกเงินและรับของโจร โดยไม่มีมูลฐานความผิดตามข้อกฎหมาย
กับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การคัดค้านเป็นเสียงเดียวกัน ทั้งจากฝ่ายอัยการและฝ่ายเจ้าทุกข์
           1) ฝ่ายอัยการได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้ว  ไม่พบหลักฐานกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา  จึงปฏิเสธ DSI  เพื่อให้ระงับการสั่งฟ้องข้อหานี้มาถึง 2 ครั้ง
2) ผู้เสียหายโดยตรงคือสหกรณ์ ก็ได้ส่งตัวแทนคือ ปธ.สหกรณ์ และ ปธ.แผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 53,000 คน ออกมายืนยันกับสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า
 ไม่พบหลักฐานว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  นำเงินออกมาจากสหกรณ์ ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อมีเสียงคัดค้านจากทั้งอัยการ และเจ้าทุกข์แบบนี้ คดีนี้จะต้องไม่มีเกิดขึ้นในโลก



แต่เมื่อดีเอสไอออกหมายเลขคดีพิเศษ  เพื่อตั้งข้อหาฟอกเงินและรับของโจร กับเจ้าอาวาสพระธรรมกาย โดยไม่มีมูลฐานความผิดเช่นนี้ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การออกหมายเรียกให้ท่านไปพบทั้งที่อาพาธหนัก  การร้องศาลเพื่อขอออกหมายจับทั้งที่คดีไม่มีมูล การออกสื่อชี้นำสังคมว่าท่านมีความผิดทั้งที่คดีไม่มีมูล การปฏิเสธความเห็นของคณะแพทย์โดยขาดการตรวจสอบ การกระทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ท่านแกล้งป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงคดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานการกระทำ ที่เข่าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้งสิ้น


ด้วยเหตุเหล่านี้ คณะศิษย์วัดพระธรรมกาย จึงมีสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย
 ที่จะปกป้องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
 มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้องความถูกต้องเป็นธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  ผ่านกระบวนการตามกฎหมายของสำนักงาน ปปช. โดยมีหลักฐานคือการคัดค้านทั้งจากฝ่ายอัยการ ฝ่ายเจ้าทุกข์ และพฤติกรรมที่ดีเอสไอปฏิบัติต่อพระภิกษุอาพาธผ่านสื่อมวลชน
ณ จุดจุดนี้ผู้เขียนก็ขอตอบแทนศิษย์วัดพระธรรมกายทุกคนว่า
“ถ้าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำงานแบบตรงไปตรงมาเรื่องต่าง ๆ ก็คงไม่มาถึงจุดนี้แน่” อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ท่านผู้อ่านไปตามศึกษาข้อมูลเหล่านี้ เพื่อความกระจ่างแก่ใจของท่านเองด้วย อย่างพึงเชื่อตามที่ข้าพเจ้ากล่าว



วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คำถาม : คำกล่าวหาที่ว่า... วัดพระธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ!!!  สรุปแล้วเป็นภัยจริงหรือไม่???
คำตอบ : ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องนี้   ถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก!!! แต่เลื่อนลอย  และไม่มีเค้าความเป็นจริงเลยสักนิด   เพราะกิจกรรมทุกกิจกรรม   รวมถึงนโยบายทุกนโยบายของวัดพระธรรมกายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   ไม่มีกิจกรรมไหนหรือนโยบายใดที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้เลยสักเรื่อง   ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านการเมือง   เศรษฐกิจ   หรือสังคม-จิตวิทยา   ส่วนว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไรเราลองมาดูกันทีละประเด็น



ประเด็นแรก : ความมั่นคงทางด้านการเมือง  
สำหรับประเด็นนี้ “ถ้าคนที่มองโลกในแง่ร้าย” ก็อาจจะมองว่า...การที่วัดพระธรรมกายสามารถรวมคนได้เป็นหลักหมื่น   หลักแสนอย่างเป็นระบบระเบียบ   ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านการเมืองได้ (ถ้าหากวัดพระธรรมกายเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล)   แต่ในความเป็นจริง!!! เนื่องจากวัดพระธรรมกายเป็นองค์กรพุทธศาสนาซึ่งบุคลากรโดยส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสงฆ์     เพราะฉะนั้น...ด้วยตัวบทกฏหมายของประเทศไทยและกฏมหาเถรสมาคมจึงไม่ได้ให้สิทธิหรือเปิดช่องให้พระภิกษุมีบทบาททางด้านการเมือง    
อีกทั้งตามหลักพระธรรมวินัย...การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์   วัดพระธรรมกายจึงได้ยึดถือและออกกฏข้อห้ามที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองจำนวน 2 ข้อ (จากทั้งหมด 10 ข้อ) มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2518    เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฏหมาย , กฏมหาเถรสมาคม   และพระธรรมวินัยว่า... “ห้ามโฆษณาชวนเชื่อหรือหาเสียงใดๆ ทั้งสิ้น” (ในกฏข้อที่ 6)  และ “ห้ามทำนายทายทักโชคชะตาหรือคุยกันเรื่องการเมืองที่ทำให้ร้อนใจ” (ในกฏข้อที่ 8)    
และด้วยความที่บุคลากรภายในวัด (ทั้งพระภิกษุ - สามเณร  รวมถึงอุบาสกและอุบาสิกา)   ต่างมีมโนปณิธานในการสั่งสมบุญสร้างบารมีตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   ทุกๆ รูปและทุกๆ คนจึงยึดถือกฏระเบียบทั้ง 2 ข้อนี้ (รวมถึงข้ออื่นๆ ที่เหลือ) กันอย่างเคร่งครัด    ถึงแม้ทางวัดจะออกกฏห้ามไม่ให้บุคลากรภายในวัดไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม   แต่เมื่อถึงคราวที่ภาครัฐต้องการให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง   ทางวัดก็ไม่ได้ปิดกั้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นบุคคลากรภายในวัด   ได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามหน้าที่พลเมืองดีของชาติ   
ในส่วนของสาธุชนที่มาแสวงบุญที่วัด   แม้แต่ละคนจะมีแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลาย (เรียกได้ว่า...มีครบทุกสี   ทุกพรรค   ทุกประเภท ทั้งที่สนใจการเมืองและไม่สนใจการเมือง)    แต่ด้วยกฏระเบียบที่ทางวัดวางนโยบายเอาไว้   สาธุชนทุกคนจึงเข้าใจและมุ่งมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม  สั่งสมบุญสร้างบารมี  โดยละทิ้งความเห็นต่างทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ชั่วคราว  
ส่วนว่าเมื่อแต่ละคนกลับออกไปดำเนินชีวิตทางโลกตามปกติ    ใครจะคิด!!! ใครจะพูด!!! หรือใครจะทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง   ในส่วนนี้วัดพระธรรมกายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง   เพราะทางวัดไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของใครได้   เนื่องจากแนวคิดทางการเมืองเป็นเรื่อง “ปัจเจกบุคคล” ที่ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพตามกฏหมาย 
และจากที่กล่าวมาทั้งหมด...จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นโยบายหรือกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย   จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทางด้านการเมือง




ประเด็นที่สอง : ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ   
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน!!! วัดพระธรรมกายไม่เคยกระทำการใดๆ ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดภาวะล้มเหลว   หรือทำให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศตกต่ำ   หรือทำให้รายได้ของประเทศขาดเสถียรภาพเลยสักครั้งเดียว   ในทางตรงกันข้าม!!! กิจกรรมหลายๆ กิจกรรมที่ทางวัดพระธรรมกายจัดขึ้น  เช่น...กิจกรรมจัดบวช หรือกิจกรรมตักบาตร  เป็นต้น  กลับเป็นกิจกรรมที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นที่มีการจัดงาน  ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการโรงแรม , ร้านค้า , ร้านอาหาร   รวมถึงเหล่าพ่อค้าแม่ขายข้างทาง   ต่างก็ได้ประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าวกันถ้วนหน้า   
เมื่อคนเหล่านี้มีรายได้ก็จะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยและนำไปมาเสียภาษีให้กับรัฐ   รัฐก็นำเงินภาษีเหล่านี้ไปใช้พัฒนาและบริหารประเทศ ยกตัวอย่างเช่น...นำไปเป็นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับชั้นตั้งแต่นายกไล่เรื่อยมา  เป็นต้น   เรียกได้ว่า...เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ล้วนมีส่วนกลับไปหล่อเลี้ยงคนทุกระดับตั้งแต่ระดับนายกฯ จนกระทั่งรากหญ้า
หรืออย่างการก่อสร้างศาสนสถานของวัดพระธรรมกาย   ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน    กล่าวคือ...เมื่อทางวัดจะก่อสร้างศาสนสถานเพื่อใช้ในงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาสักโครงการหนึ่ง    ทางวัดก็ต้องไปจัดจ้างบริษัทออกแบบและบริษัทรับเหมาก่อสร้าง    บริษัทออกแบบและบริษัทรับเหมาก็ต้องไปจ้างคนงาน    พอทุกคนมีงานก็เลยมีเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและมีเงินสำหรับไปจ่ายภาษีให้กับรัฐ   สุดท้ายรัฐก็นำเงินภาษีเหล่านี้ไปใช้บริหารประเทศและทำประโยชน์ให้กับประชาชน    ซึ่งวงจรเศรษฐกิจดังกล่าว!!! ล้วนส่งผลทำให้ประเทศชาติมีเงินหมุนเวียนและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ    เมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศไม่หยุดชะงัก     นักลงทุนต่างชาติก็จะเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะนำเงินมาลงทุนกันมากขึ้น   
และจากเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น...จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ นโยบายหรือกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย   จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทางด้านเศรษฐกิจ



ประเด็นที่สาม : ความมั่นคงทางด้านสังคม-จิตวิทยา    
สำหรับประเด็นนี้!!! วัดพระธรรมกายขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า...ทุกนโยนบายและทุกกิจกรรมของทางวัด   ไม่มีเรื่องใดเลยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านสังคม-จิตวิทยา     เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  วัดพระธรรมกายเป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่ดำเนินงานทุกอย่างอยู่ภายใต้ “หลักของกฎหมาย , กฎมหาเถรสมาคม   รวมถึงจารีตประเพณีอันดีงามที่ปู่ย่าตายาย   และเหล่าบรรพชนได้ประพฤติสืบทอดต่อๆ กันมา” อย่างเคร่งครัด   
ดังนั้น...ทุกนโยบายและทุกกิจกรรมของทางวัด   จึงไม่มีทางที่จะส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดการทำลายองค์คุณของชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน  
นอกจากนี้...ทุกนโยบายและทุกกิจกรรมของวัดพระธรรมกายยังมุ่งเน้นอบรมและฟื้นฟูศีลธรรมให้แก่คนในสังคมในทุกระดับชั้น  อีกทั้งยังมีการจัดสอนสมาธิให้แก่ประชาชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก   ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตทั้งทางกายและทางใจที่ดีขึ้น   ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ลดทอนคุณธรรม   หรือทำให้คุณภาพชีวิต (ทั้งทางกายและทางใจ) ของคนในสังคมลดลง   
และที่สำคัญทุกนโยบายและทุกกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย   ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านลบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ   ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา , ระเบียบวินัย , ความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม , สุขภาพ  หรือด้านคุณธรรม   เพราะทางวัดมุ่งเน้นจัดกิจกรรมที่เพิ่มพูนคุณธรรมในทุกๆ เรื่อง ให้กับคนในสังคม  
ดังนั้น...จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นโยบายหรือกิจกรรมของวัดพระธรรมกาย   จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทางด้านสังคม-จิตวิทยา

ถ้าถามว่ามีประเด็นอะไรบ้าง!!! ที่วัดพระธรรมกายถูกเชื่อมโยงว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”    จริงๆ ก็มีอยู่ไม่กี่เรื่องดังนี้
1.มีคนมาวัดพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก        
สำหรับประเด็นนี้!!! ถือเป็นการตั้งข้อสังเกตที่เกินกว่าเหตุและดูจะไร้ซึ่งเหตุผลไปสักหน่อย   เพราะในความเป็นจริง!!! การจัดกิจกรรมรวมคนของวัดพระธรรมกายไม่ว่าจะหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน (และกำลังจะไปสู่หลักล้านในอนาคต)   ทุกกิจกรรมล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการอบรมศีลธรรมและสอนสมาธิให้แก่สาธุชนที่มาแสวงบุญทั้งสิ้น  
อีกทั้ง...คนที่มาร่วมกิจกรรมกับทางวัด   ก็มาเพื่อมาศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มาละชั่ว  ทำดี  ทำจิตใจให้ผ่องใส   ซึ่งคนเหล่านี้ก็มีทุกระดับชั้น   ตั้งแต่เด็กอนุบาลไล่เรื่อยไปจนถึงระดับ Professor   และที่สำคัญ...กิจกรรมรวมคนมาทำความดีที่วัดพระธรรมกายจัดขึ้น   ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมือง , เศรษฐกิจ   รวมถึงสังคม-จิตวิทยาเลยสักนิด  
ถ้ามองแบบ “ผู้มีสติปัญญาและมีจิตใจที่เที่ยงธรรม”   ก็คงจะเห็นประโยชน์และเห็นแต่สิ่งดีๆ ที่เกิดจากกิจกรรมรวมคนมาทำความดีที่ทางวัดพระธรรมกายจัดขึ้นว่า... “มีส่วนช่วยทำให้ประเทศของเรามีบุคลากรที่ดี (ทั้งความรู้ดี   ความสามารถดี  ความประพฤติดี) และมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำไป”   ซึ่งในจุดนี้!!! ถือว่ามีส่วนช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องนำเงินไปใช้ในการแก้ปัญหาและปราบปรามคนที่ประพฤติผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย   และที่สำคัญ...เงินที่ใช้จัดกิจกรรมดังกล่าว   ทางวัดไม่เคยเบิกงบประมาณของประเทศชาติมาใช้เลยแม้แต่บาทเดียว   พูดได้เต็มปากว่า...ทั้งจัดงานเองและออกเงินเองล้วนๆ      
เพราะฉะนั้น...กิจกรรมรวมคนมาทำความดีครั้งละมากๆ ที่ทางวัดพระธรรมกายจัดขึ้น  จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง   ถ้าการที่วัดพระธรรมกายจัดกิจกรรมรวมคนมาทำความดีครั้งละมากๆ (อย่าง...กิจกรรมตักบาตรพระเพื่อช่วยเหลือพระที่อยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นต้น.)   ถูกคนบางกลุ่ม (รวมถึงคนของหน่วยงานราชการ) มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ  แล้วสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมให้คนมาทำบาปอกุศล (อย่างในผับ , ในบาร์  หรือในบ่อนการพนัน) มันไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติมากกว่ารึ!!!   เพราะสถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นต้นตอและเป็นบ่อเกิดของปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมลำดับต้นๆ    ดังนั้น...ถ้าใครคิดจะเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงของชาติ  จุดที่ควรเป็นกังวลมากที่สุดคือแหล่งรวมให้คนมาทำบาปอกุศลและเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้โน่น!!! ไม่ใช่วัดพระธรรมกาย
อันที่จริง!!! เราควรดูวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมรวมคนของทางวัดว่า...ที่คนมารวมตัวกันเยอะๆ  เขามารวมกันทำอะไร??? 
จากนั้นก็ใช้สติปัญญาพิจารณาหาคำตอบด้วยใจที่เที่ยงธรรมว่า...  ที่เขารวมตัวกันมา!!! เขามารวมกันทำความดี ไม่ได้มาก่อความวุ่นวายให้ประเทศชาติบ้านเมืองใช่หรือไม่???   
แล้วที่มีคนมารวมตัวกันเยอะๆ  เขามารวมตัวกันเพื่อศึกษาธรรมะมาสั่งสมบุญกุศล ไม่ได้สร้างปัญหาให้สังคมหรือใครใช่หรือเปล่า???    
ในจุดๆ นี้ คนที่ดูแลภาพรวมเรื่องความมั่นคงของชาติควรใช้ “สติปัญญาที่ประกอบด้วยใจที่เที่ยงธรรม”ในการพิจารณาเรื่องนี้ให้มากๆ  (ที่แนะนำแบบนี้!!! ก็เพราะเชื่อในสติปัญญา  ความรู้ความสามารถ  และคุณธรรมของคนที่ทำหน้าที่นี้ว่าต้องไม่ธรรมดา   ไม่เช่นนั้นจะมาทำหน้าที่สำคัญแบบนี้ได้อย่างไร!!!   แต่ถ้ามีสติปัญญาและมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมขนาดนี้แล้วไม่นำสติปัญญาและมีคุณสมบัติที่มีอยู่มาใช้   หรือใช้เพียงเล็กน้อยไม่กี่เปอร์เซ็นต์   ก็อาจจะทำให้เวลาตัดสินอะไรอาจเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้  อุปมาเหมือนคนที่สายตาดี...แต่ดันชอบหรี่ตาดู   เวลามองดูอะไรก็เลยทำให้เห็นไม่ชัด   เช่น…เห็นเครื่องบินกลายเป็นนก  เห็นมดกลายเป็นปลวก...แบบนี้เป็นต้น) 
เพราะฉะนั้น...จากเหตุผลที่ได้อธิบายมาทั้งหมด   จึงมองไม่ออกว่ากิจกรรมรวมคนมาทำความดีที่ทางวัดพระธรรมกายจัดขึ้น  จะกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติไปได้อย่างไร  

2.คำสอนของวัดพระธรรมกาย
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าจะถูกโยงว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ได้เลย   แต่สุดท้ายก็ถูกโยงเข้าจนได้   ถ้าหากใครได้ศึกษาแนวคำสอนของวัดพระธรรมกายอย่างถ่องแท้   จะพบว่าคำสอนของวัดพระธรรมกายล้วนอ้างอิงตามพระไตรปิฎกทั้งสิ้น   จะมีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นที่เป็นเรื่องราวที่ไม่มีการบันทึกในพระไตรปิฎก   เพราะเป็นเรื่องราวจากคำบอกเล่าของเหล่าผู้มีรู้มีญาณ   ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอจินไตยที่ต้องอาศัยการปฏิบัติถึงจะเข้าใจเนื้อหาในส่วนนี้  
และจากการวิเคราะห์ประเด็นที่มีคนบางกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอคติกับวัดพระธรรมกายแบบสุดขั้ว)   พยายามจุดประเด็นให้คนในสังคมเข้าใจแนวคำสอนของวัดพระธรรมกายในแบบผิดๆ พบว่า...ในหลายๆ ครั้งคนกลุ่มนี้จะเลือกเอาคำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอจินไตย (เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีบันทึกในตำราและง่ายแก่การโจมตี)    แล้วใช้วิธีการ “ตัดตอนคำ & ตัดตอนคลิป” (ที่ตัวเองเห็นว่าพอจะนำมาตีประเด็นให้คนเข้าใจผิด) มานำเสนอแค่บางช่วง     (ไม่ได้ยกเนื้อหาที่แสดงถึงที่มาที่ไปของคำสอนมาแสดงทั้งหมด)     
จากนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะนำคำสอนและคลิปที่ถูกตัดตอน   มาตีความจนไม่ได้ความ!!! (คือ...ใส่ความเห็นที่เจืออคติส่วนตัวพร้อมกับตีประเด็นชี้นำสังคม) ในทำนองที่ว่า... “คำสอนเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา   เพราะไม่มีบันทึกในพระไตรปิฎก   เป็นการบัญญัติคำสอนขึ้นมาใหม่   หรือเป็นสัทธรรมปฏิรูป”   เป็นต้น.  
เมื่อคนในสังคมโดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเข้าวัดพระธรรมกาย   ได้ฟังการตีประเด็นเรื่องคำสอนที่ถูกตัดตอนจากคนกลุ่มนี้แบบตอกย้ำ ซ้ำๆ   หลายๆ คนจึงคล้อยตามและเชื่อว่าวัดพระธรรมกายสอนผิดจริงๆ    
แต่สำหรับคนที่เข้าวัดเป็นประจำ!!! จะคุ้นเคยและเข้าใจในคำสอนของทางวัดเป็นอย่างดีว่า... “ทุกคำสอนที่ทางวัดนำมาเผยแพร่   ล้วนตรงตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางเอาไว้”   เพียงแต่บางเรื่อง (โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องอจินไตย)     บางครั้งก็จะลงรายละเอียดให้ทราบถึงที่มาที่ไปแบบครบถ้วนกระบวนความ (ตรงนี้คนที่เข้าวัดมาอย่างต่อเนื่องจะเข้าใจดี)   แต่บางครั้งเมื่อนำมากล่าวซ้ำ กอปรกับด้วยเวลาหรือโอกาสไม่อำนวยให้ลงรายละเอียด   ก็จะละบางช่วงบางตอนเอาไว้ในฐานที่เข้าใจ    ซึ่งตรงจุดนี้แหละ!!! ที่เป็นจุดให้คนที่มีอคติกับวัดพระธรรมกายนำข้อมูลไปใช้ตัดตอนคำ & ตัดตอนคลิป  เพื่อนำมาโจมตีว่าวัดพระธรรมกายสอนผิดเพี้ยน

และจากที่ได้อรรถาธิบายมาทั้งหมด   ข้อกล่าวหา (จากกลุ่มคนที่มีอคติกับวัดพระธรรมกาย) ที่ว่า... “วัดพระธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”    จึงเป็นเพียงการยัดเยียด “ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงและเลื่อนลอย”  เพราะถ้าเป็นเรื่องจริงตามที่มีคนกล่าวหา  วัดพระธรรมกายคงไม่สามารถเจริญเติบโตและยืนหยัดอยู่มาได้อย่างยาวนาน   จนถึงปัจจุบันนี้ก็เกือบครึ่งศตวรรษเข้าไปแล้ว    
และที่สำคัญ...กลุ่มคนที่สร้างประเด็นนี้ขึ้นมา   มีเจตนาก็เพียงเพื่อชี้นำและปลุกปั่นให้คนในสังคม (โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง)   รู้สึกตื่นตระหนก   เกิดความหวาดระแวงเคลือบแคลงสงสัย   และสร้างกระแสให้คนในสังคมรู้สึกเกลียดชังวัดพระธรรมกายเท่านั้น    ดังนั้น...ข้อกล่าวหาที่ว่า “วัดพระธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”      จึงไม่ใช่เรื่องจริง!!! และไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน 

สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกท่านที่ได้อ่านมาจนถึงย่อหน้าสุดท้ายนี้  และขอฝากถึงทุกท่านว่า...การจะรับข้อมูลอะไรก็ตามในโลกโซเชียล   โปรดใช้สติหยุดคิด!!! และใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองข้อมูลต่างๆ ให้ดี   โปรดอย่าฟังความข้างเดียวหรือเชื่อตามกระแสที่มีคนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นมา   ไม่เช่นนั้น!!! ท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝงได้