วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

On 02:08 by EForL   No comments


ผู้ที่ขัดขวางการให้ทานของผู้อื่นได้ชื่อว่าทำความเสื่อม

ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลถึง 3 คน ได้แก่

1) ทำความเสื่อมให้เกิดขึ้นแก่ผู้ตั้งใจทำทาน

2) ทำความเสื่อมให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับทาน

3) ทำความเสื่อมให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง

มีเรื่องเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับไปสมัยที่พระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก 

มีพระหนุ่มอยู่รูปหนึ่งอาศัยอยู่ในวัดแถบชานเมือง 

โดยมีเศรษฐีประจำเมืองนั้นเป็นคนอุปัฏฐากดูแลอยู่

วันหนึ่งมีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพึ่งออกจากป่าเดินผ่านหน้าหมู่บ้านนั้น 

เศรษฐีผู้เป็นอุปัฏฐากของพระหนุ่มเห็นกิริยาอาการสงบเสงี่ยมดีจึงเกิดความเลื่อมใส 

เลยนิมนต์ให้ท่านเข้ามาพักในวัดที่ตนอุปัฏฐากสักระยะหนึ่ง 

แล้วก็พาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปนั้นมาแนะนำให้รู้จักกับพระหนุ่มผู้เป็นพระเจ้าถิ่น

วันแรก ๆ พระหนุ่มก็ยินดีให้พัก แต่พอเห็นโยมอุปัฏฐากของตน

ขยันถามหาแต่พระผู้ปฏิบัติดีรูปนั้นเลยเริ่มเกิดความไม่พอใจ พลันเกิดความคิดขึ้นมาว่า 

เราควรหาวิธีขัดขวางไม่ให้อุปัฎฐากได้ทำบุญพระรูปนี้ 

แล้วหาวิธีขับพระรูปนี้ให้ออกจากวัดเราให้เร็วที่สุด เมื่อคิดได้ดังนี้จึงหาอุบายต่าง ๆ 

(คงไม่ได้มาถือป้ายประท้วงเหมือนเช่นทุกวันเป็นแน่) 

เพื่อทำให้พระผู้ปฏิบัติดีออกไปจากวัดนี้ให้เร็วที่สุด 

ฝ่ายพระเถระก็ทราบอัธยาศัยของพระเจ้าถิ่นจึงออกจากวัดเอง

แล้วกลับไปอยู่ป่าดังเดิม

ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เมื่อพระหนุ่มมรณภาพก็ต้องไปอยู่ในนรกหลายแสนปี 

เศษแห่งกรรมนี้ยังนำให้ไปเกิดเป็นยักษ์ถึง 500 ชาติ  

พ้นจากอัตภาพของยักษ์ก็ไปเกิดเป็นสุนัขอีก 500 ชาติ 

ตอนมาเกิดเป็นยักษ์และสุนัขไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องสักวันเดียว

ครั้นเมื่อมาเกิดในชาตินี้ (สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) 

อดีตพระหนุ่มองค์นั้นได้มาเกิดในท้องของหญิงชาวประมง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง 

วันที่ท่านปฏิสนธิอยู่ในท้องวันแรก คนทั้งหมู่บ้านประมาณพันครัวเรือน

ทำมาหากินไม่ขึ้นกันเลยทีเดียว แม้ทรัพย์ของพวกชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น 

จากที่เคยเก็บสะสมไว้ใช้ในยามจำเป็นยังถูกไฟไหม้บ้าง 

ถูกพระราชาริบทรัพย์บ้าง เรียกได้ว่าคนทั้งหมู่บ้านเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน

เมื่อเป็นดังนี้ชาวบ้านทั้งหลายก็พากันคิดว่า 

"เมื่อก่อนเรื่องทำนองนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแก่พวกเรา 

สงสัยต้องมีตัวกาลกิณีเกิดขึ้นในหมู่บ้านของเราแน่"

จึงพากันค้นหา ก็ทราบว่าในช่วงนี้มีอยู่ครอบครัวเดียวที่มีสมาชิกใหม่มาเกิด 

แล้วลองแยกครอบครัวนี้ออกจากหมู่บ้านสักพัก 

ปรากฏว่าเพียงไม่นานทรัพย์สมบัติที่สูญหายก็ได้กลับคืนมา 

ประกอบอาชีพก็เจริญรุ่งเรือง ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านลงประชามติกันว่า 

ต้องขับไล่ครอบครัวนี้ออกจากหมู่บ้านให้เร็วที่สุด

เมื่อต้องออกจากหมู่บ้าน พ่อแม่ของอดีตพระหนุ่มรูปนั้นก็จำยอม 

ต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างลำบากยากแค้นอยู่เพียงครอบครัวเดียว 

พอนางท้องแก่ก็คลอดเด็กผู้ชายออกมาหน้าตาอัปลักษณ์ นางตั้งชื่อให้ว่าโลสก

เมื่อเด็กชายโลสกโตพอจะเดินเองได้ พ่อแม่ก็มอบกะลามะพร้าวให้หนึ่งใบ 

พร้อมกับบอกว่าเจ้าจงไปเลี้ยงชีวิตเองเถอะ 

พ่อแม่ก็จะไปทำมาหากินอย่างอื่นเหมือนกัน 

เมื่อว่าดังนี้แล้วก็จากไป ปล่อยให้เด็กน้อยโลสกเผชิญชะตาชีวิตอยู่เพียงลำพัง

เด็กชายโลสกเลี้ยงชีวิตด้วยการหาเศษอาหารตามกองขยะ 

ขอน้ำที่ชาวบ้านล้างภาชนะเพื่อประทังชีวิต จนมีอายุได้ 7 ขวบ 

ได้เจอพระสารีบุตร ท่านเห็นแล้วรู้สึกสงสารจึงอนุเคราะห์ด้วยการให้บวชเณร

พออายุมากขึ้นก็ให้บวชเป็นพระ ครั้นเมื่อได้บวชแล้ว 

วิบากกรรมก็ยังตามมาส่งผล 

เวลาออกบิณฑบาตก็ไม่เคยได้อาหารเลยแม้แต่เพียงทัพพีเดียว 

ท่านต้องกลับมาขอเศษเดนอาหารจากพระรูปอื่นที่ท่านฉันเสร็จแล้วมาขบฉัน

เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ นี้ก็ถือว่าเป็นความลำบากในเรื่องลาภสักการะ

ส่วนในเรื่องการปฏิบัติธรรม ท่านก็ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน

แม้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังลำบากในเรื่องอาหารอยู่เหมือนเดิม 

วันหนึ่งพระสารีบุตรเห็นในญาณทัศนะว่าพระโลสกจะนิพพานแล้ว (ตาย) 

ท่านจึงต้องการอนุเคราะห์เป็นครั้งสุดท้ายด้วยการให้ฉันอาหารที่ดี ที่ปราณีตสักมือหนึ่ง 

จึงพาพระโลสกไปบิณฑบาตด้วยกัน ปรากฏว่าวันนั้นไม่มีใครมาใส่บาตรเลย

เมื่อเป็นดังนี้พระสารีบุตรก็รู้ได้ทันทีจึงบอกให้พระโลสกกลับวัดไปก่อน 

ส่วนตัวท่านจะเดินตามไปภายหลัง พอพระโลสกเดินลับสายตา 

ท่านก็เดินบิณฑบาตรูปเดียวจึงได้อาหาร 

พอพระสารีบุตรกลับมาถึงวัดก็แบ่งอาหารดี ๆ ให้ท่านฉัน 

แต่ด้วยแรงแห่งกรรมนั้นพออาหารดี ๆ ไปถึงมือพระโลสกก็อันตรธานหายไป 

สุดท้ายพระสารีบุตรต้องมายืนถือบาตร เพื่อให้พระโลสกได้ฉันจนอิ่ม 

พอฉันมือนั้นเสร็จก็นิพพาน

จะเห็นได้ว่าการขัดขวางการทำทานของผู้อื่นมีวิบากกรรมรุ่นแรงมาก 

กรรมที่เคยกระทำเพราะอำนาจแห่งการหลงผิดเพียงน้อยนิด

ยังตามมาส่งผลจนวาระสุดท้ายของชีวิตเลย

นี้ขนาดมีอุปนิสัยหรือมีบุญมากพอที่จะบรรลุอรหันต์แต่กรรมก็ไม่เคยละเว้น 

เมื่อได้รู้อย่างนี้แล้วเวลาเห็นคนตั้งใจทำทานหรือทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง 

แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรออกมาขัดขวางถ้าเราอยู่เฉย ๆ 

กรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เกิด เท่ากับเสมอตัว 

ถ้าออกมาขัดขวางโดยที่ตนเองก็ไม่คิดจะมาทำบุญเหมือนกัน การกระทำเช่นนี้

นอกจากตนเองไม่ได้บุญแล้วยังได้บาปติดตัวไปด้วย

แต่ถ้ารีบมาอนุโมทนาถึงเราจะไม่ได้ทำทานเองเราก็จะมีส่วนในบุญนั้นด้วย


พระโลสกติสเถระ  (อรรถกถาโลสกชาดกที่1 เล่ม 56 หน้า 2)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น