วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558



การสังคายนาครั้งที่ 1

การสังคายนาในครั้งพุทธกาลมีปรากฏในสังคีติสูตร (ที.ปา. (ไทย) 10/ 296-349/ 247-366) กล่าวไว้ว่า พระสารีบุตรได้ปรารภเรื่องปัญหาของศาสนาเชนที่เกิดขึ้นนั้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผน โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรง มาจัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (2554:13) กล่าวไว้ว่า วิธีรักษาพระธรรมวินัย ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แล้วจัดหมวดหมู่ให้กำหนดจดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว แล้วสวดสาธยายพร้อมกันแสดงความยอมรับเป็นแบบแผนเพื่อทรงจำสืบต่อกันมา วิธีการนี้เรียกว่า สังคายนา หรือ สังคีติซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า การสวดพร้อมกัน (จาก สํ พร้อมกัน” + คายน หรือ คีติ การสวด”)
การสังคายนาในพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นวิธีการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติมตามใจชอบ เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม
ในการทำสังคายนาที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกนิกายคือการสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ที่ 2 ส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 นั้นยอมรับเฉพาะฝ่ายเถรวาท และในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 4 นั้นฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับ เพราะถือว่าเป็นส่วนของมหายานที่แยกออกมา
จากข้อมูลในสังคีติสูตรนั้น แม้ว่าพระสารีบุตรได้แสดงตัวอย่างวิธีการทำสังคายนาไว้แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ต่อมาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือนได้เกิดการทำสังคายนาขึ้น มีเรื่องราวปรากฏในปัญจสติก ขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 437-445/ 375-392) ว่าด้วยมูลเหตุการณ์ทำสังคายนาครั้งที่ 1 มีเนื้อหาโดยรวมคือ พระมหากัสสปเถระ เมื่อทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้นมีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า กล่าวจ้าบจ้วงพระธรรมวินัย พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็ยังมีคนคิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา ท่านจึงวางแผนว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ จะชวนให้มาประชุมกันมาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวมประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนาแต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย เมื่องานถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ท่านก็ดำเนินงานตามที่ได้คิดไว้คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่เพื่อจะทำการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง 3 เดือน ก่อนที่จะประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ นอกเมืองราชคฤห์ ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหากัสสปเถระ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถามหลักคำสั่งสอน ซึ่งพระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น 2 ส่วน คือ พระธรรมและวินัย ในการสังคายนาครั้งนี้ มีการเลือกพระเถระ 2 รูป ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของพระธรรมวินัย ฝ่ายธรรมก็คือพระอานนท์ ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว พระอรหันต์ 500 รูป ก็เริ่มประชุมกัน จากนั้นก็ให้พระเถระทั้งสองรูปนำพุทธพจน์มาสาธยายแสดงแก่ที่ประชุม โดยประธานในที่ประชุมคือพระมหากัสสปะ วางแนวการนำเสนอด้วยการซักถามอย่างเป็นระบบ คือตามลำดับและเป็นหมวดหมู่พุทธพจน์
          ในระหว่างสังคายนา พระอานนท์ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า พระสัมมาพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่า ถ้าสงฆ์เห็นสมควรก็สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ประชุมความเห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นหมายถึงสิกขาบทข้อใดบ้าง พระมหากัสสปะจึงสรุปว่าจะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว และจะไม่บัญญัติสิกขาบทที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งที่ประชุมสงฆ์ก็รับรองเป็นเอกฉันท์ จึงเป็นหลักปฏิบัติต่อมาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทจนมาถึงปัจจุบัน การทำสังคายนาครั้งนี้ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น
          หลักจากนั้นไม่นาน ก็มีพระเถระชื่อ พระปุราณะ พร้อมลูกศิษย์ 500 รูป เดินทางสู่เชตวัน กรุงราชคฤห์ พระที่ร่วมกันสังคายนาก็ได้ไปแจ้งให้ทราบว่าได้ทำสังคายนาเสร็จแล้ว ขอให้ท่านรับมติของสงฆ์ด้วย แต่พระปาณะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและวินัยดีแล้ว แต่ท่านจะทรงจำไว้ตามที่ได้ยินเฉพาะพระพักตร์ (วิ.จู. (ไทย) 7 / 444/ 385-386) พระปุราณะมีความเห็นส่วนใหญ่ตรงกับการสังคายนาครั้งนี้ แต่มีเพียงเรื่องกถาวัตถุ 8 ที่เป็นพุทธานุญาตพิเศษเมื่อคราวเกิดทุพพภิขภัย แต่ในภายหลังทุพพภิกขภัยสงบลงพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามกถาวัตถุ 8 พระปุราณะและศิษย์คงไม่ทราบตอนที่พระพุทธองค์ทรงห้ามจึงยังคงถือปฏิบัติตามที่ได้สดับมาจากพระพุทธองค์ (วิ.มหา. (ไทย) 5/ 274/ 72)
ด้วยเหตุนี้เองความเห็นต่างในเรื่องข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เกิดขึ้นตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรก แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการแตกนิกาย 
มูลเหตุการณ์สังคายนาครั้งที่ 1
1. มูลเหตุในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นจากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้งก็รู้สึกสลดใจ ดำริว่าหากปล่อยไว้นานเข้า คำสอนของพระพุทธศาสนาอาจถูกบิดเบือนไปได้ 
2. เพื่อความยั่งยืนของพระธรรมวินัย และความถูกต้อง
3. เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า (เสถียร โพธินันทะ.2543:56)
ผลที่เกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 1
1. เกิดการเรียบเรียงพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ก็ยังทำให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา มีการพระวินัยและพระธรรมเป็นหมวดหมู่ มีการปรับอาบัติพระอานนท์ มีการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ มีการยอมรับมติของพระมหากัสสปะให้คงสิกขาบทเดิมไว้ทั้งหมด
2. ในการสังคายนาครั้งนี้ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือยึดถือคำสอนตามหลักการของพระเถระ 500 รูป ที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งถูกเรียบเรียงเป็นพระสูตรและพระวินัยเกิดขึ้น ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ จึงมีการท่องจำสืบต่อกันมาและถือตามนั้นโดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
3. เกิดความเห็นต่างในเรื่องทิฏฐิสามัญญตา(ความเห็น) และสีลสามัญญตา(ข้อปฏิบัติ) ไม่ตรงกัน จะเห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ของพระปุราณะและลูกศิษย์ แม้ในขณะนั้นยังไม่เกิดการแตกนิกายก็ตาม แต่มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการสังคายนาและการแตกนิกายในครั้งต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับ เสถียร โพธินันทะ (2543:56) กล่าวไว้ว่าในการสังคายนาครั้งที่ 1 เกิดจากการทำสังคายนาเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภิกษุอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประชุม และในจำนวนนั้นมีบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการสังคายนาของฝ่ายพระมหากัสสปะ โดยเฉพาะสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความคิดเห็นในข้อปฏิบัติที่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการสังคายนาครั้งต่อๆ มา จนนำมาสู่การแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากหมายมาถึงปัจจุบัน
4. เป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันว่า พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบต่อมา ถึงแม้ว่าพระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม
5. เป็นการป้องกันการกล่าวว่าร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร้เหตุผลในอนาคต

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น