วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

On 17:11 by EForL   No comments

ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องในชาดกเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งขณะ ที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ปรากฏว่าคนฟังมีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น นั่งหลับบ้าง มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดาวบ้าง แหย่เพื่อน ๆ ขีดเขียนดินเล่นบ้าง ฟังธรรมด้วยความเคารพบ้าง หลังจากจบพระธรรมเทศนา มีอุบาสกคนหนึ่งเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับพฤติกรรมคนเหล่านี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า
๑)      คนที่นั่งหลับเวลาฟังธรรม ชาติก่อนเคยเกิดเป็นงูเหลือม เพราะงูเหลือมหลังจากกินอาหารเต็มอิ่มแล้วก็จะหลับ
๒)      คนที่มองท้องฟ้าหรือแหงนดูดาว ชาติก่อนเคยเกิดเป็นหมอดู หรือนักพยากรณ์ดวงชะตาราศี
๓)      คนที่ชอบแหย่เพื่อนเล่นชาติ ก่อนเคยเกิดเป็นลิงจึงอยู่ไม่เป็นสุข แหย่คนโน้นทีคนนี้ทีตามสัญชาตญาณเดิมที่ติดตัวมา

๔)      คนที่ขีดเขียนดินเล่น ชาติก่อนเคยเกิดเป็นไส้เดือนจึงมีอาการแสดงออกคล้ายจะหาที่อยู่เดิมของตน
๕)      คนที่ฟังธรรมด้วยความเคารพ ชาติก่อนเคยเกิดเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต จึงสนใจ และเอาใจจดจ่ออยู่กับการฟังตลอดเวลา มีความกระตือรือร้นในทางก้าวหน้าอยู่เสมอ จึงฟังด้วยความสุขใจ เอิบอิ่มใจอย่างยิ่ง




แล้วคุณเป็นคนแบบไหน ?


วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

On 04:16 by EForL   No comments


กาลามสูตร คือ พระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ ไม่ให้เชื่องมงาย ไร้เหตุผล มีหลักอยู่ ๑๐ ข้อ ได้แก่
๑) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา เช่น "เขาว่าพระรูปโน้นเป็นอย่างนั้น" "ได้ยินมาว่าคนนั้นเป็นอย่างนี้"
๒) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา เช่น "ใคร ๆ เขาก็ว่ากินผักกะหล่ำมากแล้วจะทำให้เป็นหมัน"  "โบราณว่า...."
๓) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ เช่น “ข่าวว่านายนั้นเป็นคนอย่างนี้”
๔) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ เช่น “ตำราว่าอย่างนั้น ต้องออกมาเป็นอย่างเท่านั้น”
๕) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ เช่น ชาย ๒ คนเข้าไปในหลุมขยะ พอออกจากหลุมขยะต้องมีคราบเปื้อนทั้งสองคน ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วมันเป็นตรรกะดีก็เลยเชื่อ
๖) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน เช่น การคาดการณ์ตามประวัติศาสตร์ ตามสถิติ ความน่าจะเป็น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้
๗) อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล เช่น เห็นคนไข้เป็นแบบที่เคยรักษามาก่อน จึงคิดว่าคนนี้ต้องเป็นโรคแบบนั้น เลยไม่ตรวจรักษาจ่ายยาเลย
๘) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว เช่น 1+1 ต้องเท่ากับ 2 เท่านั้น
๙) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ โดยเทียบกับความคิดเห็นเดิมของตน
๑๐) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา


แต่ให้เชื่อเพราะเราได้พิสูจน์ด้วยตนว่าธรรม (ความรู้) เหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ     แล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกว่าเป็นหลักธรรมาธิปไตย เอาธรรมะ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่และหลักการนี้เองที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ปกครองสงฆ์ในสมัยพุทธกาล



On 03:23 by EForL   No comments
วาเสฏฐะและภารทวาชะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใส่ จึงพากันออกบวชเป็นสามเณรอยู่สำนักของพระศาสดา
ในสมัยนั้น การที่คนในวรรณะพราหมณ์ออกมาบวชเป็นพระเป็นเณร ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง คนที่ทำเช่นนั้นย่อมถูกพวกพราหมณ์ตำหนิ ดูถูก ด่าว่าเป็นคนหยาบช้าเลวทราม ฯลฯ ซึ่งสามเณรทั้งสองรูปนี้ก็ถูกด่าอยู่บ่อย ๆ
มีอยู่วันหนึ่ง ทั้งสองรูปได้เข้ามากราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทูลถามปัญหาว่า
สามเณร. พราหมณ์พวกเดียวเท่านั้นหรือประเสริฐที่สุด
พระสัมมาฯ. ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก เพราะพราหมณ์ระลึกเรื่องในอดีตไม่ได้ จึงว่าอย่างนั้น
พระสัมมาฯ ตรัสต่อไปว่า ก็อย่างที่เห็นนั้นแหละ นางพรามณีผู้เป็นแม่ทั้งหลายเป็นผู้อุ้มท้อง เป็นผู้คลอดและให้การเลี้ยงดูเขาทั้งหลายเหล่านั้นมา แล้วยังมาบอกว่าเกิดจาก      พระโอษฐ์ของพระพรหม เป็นวรรณะที่บริสุทธิ์ที่สุด ยิ่งกล่าวอย่างนี้ถือว่าพูดเท็จ ย่อมได้รับผลของกรรมที่กล่าวเท็จนั้น

สุดท้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวสรุปว่า ใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์อยู่ที่การกระทำเณรเอ๋ย ถ้าบุคคลใดประพฤติอกุศลกรรม บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์ แต่ถ้าบุคคลได้ประพฤติกุศลกรรม บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์


วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

On 20:40 by EForL   No comments













การที่เราจะเรียนอะไรซักอย่างหนึ่ง เราต้องมีครูดีหรือมีต้นแบบที่ดีมาถ่ายทอดให้ ถึงจะได้ความรู้นั้นมาอย่างถูกต้อง ไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิดลองถูกเอง เมื่อเป็นดังนี้วิชาที่เราจะเลือกเรียนก็ต้องรู้แหล่งที่มาที่ไปของครู รวมทั้งวิชาที่ครูถ่ายทอดมาด้วยว่าเป็นอย่างไร

วันนี้จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นแหล่งเก็บคำสอนของบรมครูผู้เป็นเอกบุรุษของโลกเอาไว้




เชื่อว่าศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนา แม้เดิมจะยังไม่มีการบันทึก แต่เมื่อมีวิวัฒนาการด้านการบันทึกข้อมูล จึงมีการจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้
พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ของศาสนาพุทธ เช่นเดียวกับไบเบิ้ลของคริสต์ อัลกุรอานของอิสลาม

คำว่าไตรปิฎกถ้าแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง ๓ คัมภีร์ แต่ถ้าแปลเอาความหมายจะได้ว่า คัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย ประกอบไปด้วย
๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาหมวดต่าง ๆ
๓. อภิธรรมปิฎก ว่าด้วยปรมัตถธรรมหรือธรรมขั้นสูงล้วน ๆ
ซึ่งแต่ละปิฎกก็มีหมวดย่อยลงไปอีก เพื่อความเข้าไปอยู่ในใจจึงได้ทำแผนผังให้แล้วดังนี้ 



















          ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ที่พระองค์ทรงเสด็จจาริกไปเผยแผ่พระศาสนาตามดินแดนต่าง ๆ อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทรงแสดงธรรมประดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือจุดประทีปในมืดเพื่อให้คนมองเห็น  ทำให้มีสรรพสัตว์ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอริยบุคคลมากมายนับไม่ถ้วน

          พระสัทธรรมคำสอนอันทรงคุณค่านี้ ได้มีการเก็บรักษาและสืบทอดกันมาตามลำดับจะถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้มีบุญยุคหลังได้ศึกษาแล้วนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องสืบต่อไป


วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศาสนาทุกศาสนา แต่เดิมล้วนมุ้งสอนให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปราศจากการประทุษร้ายซึ่งกันและกัน และสอนให้รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ปัจจุบันหลายศาสนากลับเปลี่ยนแปลงไป
             
             ศาสนาพุทธก็เป็นหนึ่งในหลายศาสนาที่มีประชาชนนับถือกันมาก สิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธยังคงเจริญอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางหลักการไว้ดีแล้วในวันมาฆะเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หลักการที่ว่านี้คือ "โอวาทปาฏิโมกข์"
















วันมาฆบูชา คือ วันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางสงฆ์ จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งพระสงฆ์ที่มาประชุมในครั้งนี้ เป็นพระชุดแรกที่พระองค์บวชให้ และถือเป็นกำลังหลักในการประกาศพระพุทธศาสนา
ก่อนที่จะส่งพระไปประกาศพระสัจธรรม พระพุทธองค์ต้องให้นโยบายในการเผยแผ่คำสอนของศาสนาพุทธไว้ก่อนซึ่งประกอบไปด้วย
๑. เป้าหมายในการเผยแผ่ศาสนาพุทธ 
๒. หลักการในการเผยแผ่
๓. วิธีการในการเผยแผ่

๑. เป้าหมาย ๓ ได้แก่
-  ขันติเป็นเครื่องเผากิเลส
- พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด
- ผู้ล้างผลาญผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นนักบวช ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าสมณะ
การจะสอนให้คนทำความดีซึ่งเป็นการสวนกระแสกิเลสเป็นเรื่องยากต้องมีขันติมาก แต่ถ้าไม่มีขันติแล้วกิเลสที่ติดแน่นในใจก็ไม่ทางสำรอกออก และจะไม่มีทางไปถึงพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมอันสูงสุดได้ ระหว่างทางที่ไปเผยแผ่ก็ต้องทำตัวให้เป็นนักบวชที่ดีด้วย
๒. หลักการ ๓ ได้แก่
- การไม่ทำบาปทั้งปวง
- ทำดีให้ยิ่งขึ้นไป
- กลั่นจิตของตนให้ผ่องใส
ถึงแม้จะมีความเชื่อ และวีธีการสอนตลอดจนถึงแนวทางในการปฏิบัติแบบต่าง ๆ สอนอยู่ในโลกนี้มากมาย แต่หลักของศาสนาพุทธเราต้องไม่หลุดออกจาก ๓ ข้อนี้
๓. วิธีการ ๖ ได้แก่
- ไม่ว่าร้ายกัน
- ไม่ล้างผลาญกัน
- สำรวมในข้อวัตรปฏิบัติ
- รู้ประมาณในการบริโภค
- นอน นั่งในที่อันสงัด
- ประกอบความเพียรทางใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เป้าหมาย หลักการและวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประธานไว้ดีแล้วนี้ ถือเป็นสิ่งต้องรู้และปฏิบัติให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ถึงแม้ว่าสถานที่ที่จะไปประกาศพระศาสนาจะมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดก็ตาม




เราในฐานะเป็นชาวพุทธ เมื่อถึงวาระวันสำคัญเช่นนี้มาถึง นอกจากปฏิบัติตามประเพณีนิยมแล้ว ต้องปฏิบัติตนให้เป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปด้วย ให้สมกับที่เราได้เกิดมาในดินแดนที่ชาวโลกยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลกด้วย