วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

On 22:25 by EForL   No comments


การสังคายนาครั้งที่ 3

การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. 236 มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา. อ. (ไทย) 1/  93-110) ด้วยเหตุที่ว่ามีพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเนื่องจากพระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้น มีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทำให้สงฆ์ที่ปฏิบัติชอบเกิดความรังเกียจ แยกพระจริงพระปลอมไม่ออก พระสงฆ์จึงไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นเวลาถึง 7 ปี ฝ่ายพระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้ แต่อำมาตย์ทำเกินเลยบังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์ พวกภิกษุไม่ยอม อำมาตย์จึงได้ฆ่าภิกษุที่ขัดขืน 2-3 รูป พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่ ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้ พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้นเพราะทำเกินรับสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าอโศกได้โปรดให้ประชุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ เช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนองสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง 60,000 รูป เมื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่  3  โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน 1,000 รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการามทำอยู่ 9 เดือนจึงเสร็จ
ในส่วนกรณี ที่พระเจ้าอโศกจับพระสึกเพื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชนั้น ในส่วนหนึ่งถือได้ว่าทำด้วยความหากขาดโยนิโสมนสิกาในการพิจาณาให้ทีถ้วนก่อน เพราะการใช้วิธีการถามตอบนั้นอาจไม่ใช้วิธีการที่ดีที่สุดในการแยกแยะว่าพระรูปใดเป็นพระจริงพระปลอม เนื่องจากพระแต่ละรูปนั้นมีความเชียวชาญแตกต่างกัน เช่นบ้างรูปชอบทางปริยัติ บ้างรูปชอบปฏิบัติเข้าป่าปลีกวิเวก ก็อาจไม่มีความรู้ในทุกๆ เรื่องเสมอไป ด้วยเหตุนี้อาจมีผลที่ทำให้พระที่บริสุทธิ์ถูกจับสึกไปด้วย
ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม 500 คำตอบ 500 เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น เพื่อรักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้ หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จลงพระเจ้าอโศกมหาราชจึงส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวม 9 สาย ดังนี้ คือ
1. พระมัชฌันติกเถระไปแคว้นกัศมีร์และคันธาระ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งได้แก่แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบันนี้
2. พระมหาเทวเถระ ไปมัหิสสกมณฑล อยู่ทางทิศตใต้ของแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งได้แก่ไมซอร์ในปัจจุบัน (อยู่ทางทิศใต้ของอินเดียติดกับเมืองมัทราส)
3. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศอยู่ในเขตกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้
4. พระโยนกธัมมรักขิตเถระ ไปปรันตชนบทอยู่ริมฝั่งทะเลอาระเบียนทิศเหนือของบอมเบย์
5. พระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปแคว้นมหาราษฎร์ ภาคตะวันตกไม่ห่างจากบอมเบย์
6. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ ได้แก่ เขตแดนแบคเทียในเปอร์เซียปัจจุบัน
7. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันประเทศได้แก่เนปาลซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย
8. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระไปสุวรรณภูมิ
9. พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่เกาะสิงหล หรือประเทศศรีลังกา มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา.อ. (ไทย) 1/-/ 111)
สำหรับผลจากการส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา 9 สาย ในครั้งนั้นทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนต่างๆ และต่อมาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเอเชียและตะวันตก ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระพุทธศาสนาคงอยู่คู่โลกมาได้จนถึงปัจจุบัน ดั่งที่กองวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย (2550:229) กล่าวไว้ว่าแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมไปจากอินเดียแล้ว แต่ก็ยังไม่สูญไปจากโลกเพราะผลจากการเผยแผ่ของสมณทูตของ 9 สาย ในยุคพระเจ้าอโศก
4. ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3
จากการสังคายนาทั้ง 3 ครั้ง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น มีผลต่อการรักษาธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก กล่าวคือการสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 3 เดือน จากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ แล้วได้มีการรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระธรรมวินัย เป็นผู้รวบรวมฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัยทำการสังคายนาขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของนิกายเถรวาท และพระไตรปิฎกในส่วนของพระสูตรและพระวินัยจนถือแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาการสังคายนาครั้งที่ 2 นั้นเกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 100 ปี ปรารภเหตุจากการประพฤติย่อหย่อนผิดพระวินัยของ ภิกษุวัชชีบุตร จึงมีการทบทวนพระธรรมวินัย และภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับการสังคายนาในครั้งนั้น จึงแยกกลุ่มออกมาสังคายนาต่างหากจนเกิดการแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือเถรวาทและมหาสังฆิกะ ต่อมาก็แตกเป็นอีก 18 นิกาย ในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 หลังพุทธปรินิพพาน 235 ปี ปรารภนักบวชนอกพระพุทธศาสนาปลอมบวชอาศัยพระพุทธศาสนาหาเลี้ยงชีพ เมื่อพระเจ้าอโศกชำระจับสึกนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงได้มีการรวบรวมทบทวนพระธรรมวินัยแยกเป็นพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก และมีการส่งสมณทูตออกไป 9 สาย ส่งผลให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนนั้นๆ และต่อมาแผ่ขยายไปทั้งในเอเชียและตะวันตก ถือได้ว่าการสังคายนามีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาธรรมวินัย ซึ่งถือได้ว่าตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป
ในส่วนความคิดเห็นต่างในข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เช่น การละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย ฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความรู้สึกของฝ่ายผู้ที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงจะเป็นการละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยก็ตาม ท่านก็จะตำนิอย่างแรง เพราะถือว่าการไม่ยกเลิกสิกขาบทใดเลย แม้เล็กน้อยเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องทิฐิมานะ เช่นภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับการสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดการไม่ยอมรับกัน จนทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ในเวลาต่อมา ดังนั้นการมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องธรรมวินัยและถือทิฐิมานะเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกจนนำมาสู่การแตกเป็นนิกายต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันความเห็นต่างในข้อปฏิบัติเกิดขึ้นมากหมายในสังคมปัจจุบัน เกิดการถกเถียงกัน การตีความในธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติในข้อพระธรรมวินัยโดยถือตามทิฐิตัวเองเป็นหลัก ทำให้ห่างไกลจากธรรมวินัยดั้งเดิม นำมาสู่ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในที่สุด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น