วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558


พระพุทธศาสนานิกายมหายานนั้นมีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งสมัยพุทธกาลจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับประยงค์ แสนบุราญ ได้กล่าวไว้ว่า ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนชีพอยู่ หรือแม้แต่หลังเสด็จปรินิพพานแล้วใหม่ๆรูปแบบของนิกายมหายานยังไม่ได้เกิดขึ้นแม้แต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 2 พระพุทธศาสนาจะเริ่มแยกอออกเป็น 2 นิกาย คือ เถรวาท (สถวีรวาทิน) และอาจาริยวาท (มหาสังฆิกะ) หรือแม้แต่ในพุทธศตวรรษที่ 3 พระพุทธศาสนาจะแตกออกเป็น 18 นิกายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนิกายมหายานแต่อย่างใด เพียงแต่ถือว่าเป็นความคิดของคณาจารย์ที่ไม่ตรงกัน แต่ก็รับว่าเริ่มมีการก่อตัวขึ้นในช่วงนี้ จนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 (ประมาณพ.ศ.500 เศษๆ) พระอัศวโฆษ ภิกษุชาวเมืองสาเกตในสมัยพระเจ้ากนิษกะแต่งคัมภีร์ศรัทโธตปาทศาสตร์ขึ้น นิกายมหายานซึ่งเป็นกระแสที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นเวลานานจึงปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นในพุทธศตวรรษนี้และมีพัฒนาการต่อไปอย่างรวดเร็ว (ประยงค์ แสนบุราญ, 2549 : 65) ซึ่งการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามหายานในอินเดียเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น อาจมีสาเหตุมาจากหลายประการดังนี้
1. เกิดจากบ้างนิกายใน 18 นิกาย มหายานได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากทั้ง 18 นิกายของพุทธศาสนา และที่มีอิทธิพลมากต่อมหายานคือ นิกายมหาสังฆิกะ มหายานค่อยๆ พัฒนาและผสมผสานแนวความคิด หลักปรัชญาจากนิกายต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้นเป็นรูปร่างในราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยอภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ (2527 : 83) กล่าวว่านิกายทั้ง18 นิกาย ต่างมีอุดมคติทัศนะทางหลักธรรมและวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง มหายานก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นเพราะมีทัศนะในเรื่องอุดมคติต่างจาก 18นิกายคณาจารย์ในมหายานในสมัยนั้นล้วนแต่เป็นภิกษุใน 18 นิกายมาก่อน ภายหลังจึงแยกตัวออกมาตั้งนิกายมหายาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ในนิกายมหาสังฆิกะ และกลุ่มคณะของนิกายนั้นได้มีบทบาทสำคัญที่ก่อให้เกิดนิกายมหายาน
            2. การเน้นพุทธลักษณะ มหายานมีแนวความคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีลักษณะพิเศษ และยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ธรรมดาทั้งหลาย ควรมีสภาวะที่ยั่งยืนไม่มีขอบเขต แต่ด้วยพระมหากรุณาจึงทรงแสดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกเพื่อโปรดสัตว์โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2520 : 459-460) กล่าวว่า นิกายมหาสังฆิกะเห็นว่าภาวะของพระพุทธเจ้าทั้งนามและรูปเป็นโลกุตตระ พระชนม์ชีพยังยั่งยืนไม่มีขอบเขต สิ่งที่แตกดับเป็นเพียงมายาธรรมเท่านั้น ความคิดเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดลัทธิมหายาน ได้เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ จึงนำเอาโพธิจริยาทั้ง 10 ทัศมาประกาศเป็นพิเศษและตั้งอุดมคติที่จะให้มุ่งสำเร็จสัพพัญญุตญาณ มีโอกาสสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์และไม่พอใจในการบรรลุพระอรหันต์เพราะถือว่าคับแคบเฉพาะตน

3
3. แรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ ที่มีการแต่งมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะเพื่อดึงดูดใจผู้อ่านให้ภักดีต่อพระเจ้า กำหนดให้มีพระเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ศาสนาพราหมณ์จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ฝ่ายพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องปรับตัว โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2519 : 463-465) กล่าวว่าฝ่ายพุทธศาสนาได้มีการปฏิรูปการเผยแพร่พุทธศาสนาเพื่อแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์โดยปฏิรูป 2 แนวคือ
ก. แนวแห่งบุคลาธิษฐาน โดยเพ่งเล็งถึงศรัทธาปสาทะของสามัญชนเป็นส่วนใหญ่สำคัญ โดยอนุโลมตามความต้องการของสามัญชน
ข. ปฏิรูปตามแนวแห่งธรรมาธิษฐาน เมื่อบัญญัติลัทธิทางบุคคลาธิษฐานเพื่อจูงศัทธาแล้วก็ต้องให้มีปัญญากำกับ
ด้วยวิธีการนี้เองส่งผลให้พระพุทธศาสนากลับมาครองใจประชาชนอีกครั้ง และสามารถดึงศาสนิกจากศาสนาพราหมณ์ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนากลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
4. เกิดจากพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ เนื่องจากนิกายมหายานเน้นที่การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระโพธิสัตว์เป็นคฤหัสถ์ได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2520 : 466) ให้ความเห็นว่าจากการปฏิรูปหลักธรรมเพื่อสู้กับพราหมณ์ดังกล่าว แม้จะเกิดจากพระเถระจาก 18 นิกายก็ตามแต่พระเถระเหล่านั้นเน้นการศึกษาปรัชญา ส่วนผู้ที่ปฏิรูปทั้งทางด้านธรรมาธิษฐานและปุคลาธิษฐานคือพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์พุทธบริษัทเหล่านี้พยายามเผยแพร่ศาสนาตามสังคมด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดและสะดวกกว่าพระสงฆ์ สามารถเผยแพร่ธรรมได้ทุกกาลสมัย และคนเหล่านี้ก็ปรารถนาโพธิญาณเพื่อจะได้เป็นพระโพธิสัตว์เช่นกันพระโพธิสัตว์ในเพศฆราวาสนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
ก.    พระโพธิสัตว์ฆราวาสซึ่งประพฤติพรหมจรรย์เหมือนสมณะ ประเภทนี้แม้จะครองเรือนอยู่แต่ก็รักษาความสงบภายในเรียก “ ฆราวาสมุนี ”
ข.   พระโพธิสัตว์ฆราวาสซึ่งยังบริโภคกามคุณเยี่ยงสามัญชนทั่วไป
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนในการทำหน้าที่ช่วยกันประกาศพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเฉพาะในคณะสงฆ์เท่านั้น ทุกคนมีบทบาทในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้รักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
จากมูลเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้ง 4 ประการนั้น มหายานได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจาก18 นิกาย โดยเฉพาะนิกายมหาสังฆิกะรวมถึงความคิดการเน้นพุทธลักษณะที่ต่างจากเดิม และยังมีแรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ที่ทำให้ฝ่ายพุทธศาสนาเองต้องมีการปฏิรูปหลักธรรมใหม่เพื่อแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์ โดยมีพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทในการเผยแผ่พุทธศาสนาตามสังคมด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดและสะดวกกว่าพระสงฆ์จนในที่สุดพระพุทธศาสนามหายานจึงปรากฏชัดเจนในคัมภีร์ศรัทโธปาทศาสตร์ โดยประยงค์ แสนบุญราณ (2548 : 96) ได้กล่าวว่า พุทธศตวรรษที่ 6 พระอัศวโฆษได้นิพนธ์คัมภีร์ศรัทโธปาทศาสตร์ประกาศตัวเองเป็นมหายานอย่างเต็มตัวต่อมาจากพุทธศตวรรษที่ 6-9 นิกายมหายานได้แตกนิกายออกอีก 3 นิกาย เฉพาะในอินเดีย หลังจากนั้นได้เผยแผ่เข้าไปในประเทศธิเบต เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และประเทศอื่นๆ
สำหรับพระพุทธศาสนามหายานในปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองในแถบเอเชียตะวันออกได้แก่ ประเทศทิเบต จีน เกาหลี ไต้หวันญี่ปุ่น และเวียดนาม โซนตะวันตกได้แก่ประเทศอังกฤษ อิตาลีเยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นต้น ส่วนโซนโอเชียเนียนั้นอยู่ในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์โดยเฉพาะในปัจจุบันพบว่านิกายมหายานได้รับความนิยมจากทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลทางเวบไซต์ www.buddhanet.net ได้ให้ข้อมูลสถิติผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ทั่วโลก นิกายมหายานมีจำนวนผู้นับถือมากกว่านิกายอื่นๆ คือ มหายาน จำนวน 185,000,000 คน เถรวาท จำนวน 124,000,000 คน วัชรยาน (ทิเบต) จำนวน 20,000,000 คน (http://www.buddhanet.net/e-learning/history/bstats_b.htm)
(ที่มา : Statistics sourced fromwww.adherents.com) 
นอกจากนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบค้นหาคำว่า Vajrayan Tibetan, TharavadaและMahayana ในเว็บไซต์ https://www.google.com/trends จะพบว่า Mahayana มีเปอร์เซ็นต์ยอด
การค้นหาสูงกว่า Vajrayan Tibetan, Tharavada นี้ก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีความสนใจในการศึกษาพุทธศาสนามหายานมากกว่านิกายอื่น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันพุทธศาสนามหายานหลายนิกายได้เข้าไปเผยแผ่ในหลายๆประเทศซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในวงวิชาการและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะนิกายเซนและพระพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานมากกว่านิกายอื่นนั้น เพราะพระพุทธศาสนามหายานเข้าถึงง่ายกว่า ส่วนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้าถึงยากเนื่องจากมีรายละเอียดลึกซึ้งมากกว่า และเกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนาเดิมที่สอนให้เชื่อเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในตะวันตก และเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่ท้าทายให้พิสูจน์โดยไม่บังคับให้เชื่อตาม อีกทั้งหลักคำสอนยังยึดเหตุผลและการไม่ใช้ความรุนแรง จึงทำให้ชาวตะวันตกเกิดศรัทธาและหันมานับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่น่าสนใจคือพระพุทธศาสนานิกายมหายานมีหลักคำสอนอย่างไรจึงทำให้ได้รับความนิยมนั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษาถึงหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน




สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนมีวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ให้สามารถอยู่ได้ยาวนานมากที่สุด
          พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ได้รับการสืบทอดมายาวนานมากกว่า 2,600 ปี จากอดีตสู่ปัจจุบันเกิดการแตกแขนงแบ่งออกเป็นนิกายต่างๆ อาทิเช่น นิกายเถรวาท นิกายมหายานและนิกายตันตระยาน โดยบ้างนิกายก็รักษารูปแบบและคำสอนดั้งเดิมไว้ บ้างก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และตามยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป.
          ในสังคมยุคปัจจุบันปัญหาสังคมพระพุทธศาสนามหายานกำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งน่าที่สนใจคือว่าทำไมนิกายมหายานจึงเป็นที่ยอมรับของผู้คนอย่างกว้างขวางทั่วโลกมากกว่านิกายอื่น มีทิศทางเป็นอย่างไร มีจุดเด่นและความต่างจากพุทธดังเดิมหรือเปล่า และมีหลักธรรมคำสอนเป็นอย่างไร จึงสามารถปรับตัวเข้าสังคมได้ง่าย สิ่งเหล่านี้เองเป็นประเด็นที่ควรศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระพุทธศาสนามหายานมากยิ่งขึ้น และนำส่วนที่ดีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดทัศนะคติที่ดีต่อกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายในพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาและนำมาสู่ความสมัครสมานสามัคคีกันในพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไปในภายภาคหน้า

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

On 22:25 by EForL   No comments


การสังคายนาครั้งที่ 3

การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. 236 มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา. อ. (ไทย) 1/  93-110) ด้วยเหตุที่ว่ามีพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเนื่องจากพระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้น มีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทำให้สงฆ์ที่ปฏิบัติชอบเกิดความรังเกียจ แยกพระจริงพระปลอมไม่ออก พระสงฆ์จึงไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นเวลาถึง 7 ปี ฝ่ายพระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้ แต่อำมาตย์ทำเกินเลยบังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์ พวกภิกษุไม่ยอม อำมาตย์จึงได้ฆ่าภิกษุที่ขัดขืน 2-3 รูป พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่ ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้ พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้นเพราะทำเกินรับสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าอโศกได้โปรดให้ประชุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ เช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนองสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง 60,000 รูป เมื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่  3  โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน 1,000 รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการามทำอยู่ 9 เดือนจึงเสร็จ
ในส่วนกรณี ที่พระเจ้าอโศกจับพระสึกเพื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชนั้น ในส่วนหนึ่งถือได้ว่าทำด้วยความหากขาดโยนิโสมนสิกาในการพิจาณาให้ทีถ้วนก่อน เพราะการใช้วิธีการถามตอบนั้นอาจไม่ใช้วิธีการที่ดีที่สุดในการแยกแยะว่าพระรูปใดเป็นพระจริงพระปลอม เนื่องจากพระแต่ละรูปนั้นมีความเชียวชาญแตกต่างกัน เช่นบ้างรูปชอบทางปริยัติ บ้างรูปชอบปฏิบัติเข้าป่าปลีกวิเวก ก็อาจไม่มีความรู้ในทุกๆ เรื่องเสมอไป ด้วยเหตุนี้อาจมีผลที่ทำให้พระที่บริสุทธิ์ถูกจับสึกไปด้วย
ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม 500 คำตอบ 500 เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น เพื่อรักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้ หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จลงพระเจ้าอโศกมหาราชจึงส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวม 9 สาย ดังนี้ คือ
1. พระมัชฌันติกเถระไปแคว้นกัศมีร์และคันธาระ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งได้แก่แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบันนี้
2. พระมหาเทวเถระ ไปมัหิสสกมณฑล อยู่ทางทิศตใต้ของแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งได้แก่ไมซอร์ในปัจจุบัน (อยู่ทางทิศใต้ของอินเดียติดกับเมืองมัทราส)
3. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศอยู่ในเขตกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้
4. พระโยนกธัมมรักขิตเถระ ไปปรันตชนบทอยู่ริมฝั่งทะเลอาระเบียนทิศเหนือของบอมเบย์
5. พระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปแคว้นมหาราษฎร์ ภาคตะวันตกไม่ห่างจากบอมเบย์
6. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ ได้แก่ เขตแดนแบคเทียในเปอร์เซียปัจจุบัน
7. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันประเทศได้แก่เนปาลซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย
8. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระไปสุวรรณภูมิ
9. พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่เกาะสิงหล หรือประเทศศรีลังกา มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา.อ. (ไทย) 1/-/ 111)
สำหรับผลจากการส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา 9 สาย ในครั้งนั้นทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนต่างๆ และต่อมาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเอเชียและตะวันตก ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระพุทธศาสนาคงอยู่คู่โลกมาได้จนถึงปัจจุบัน ดั่งที่กองวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย (2550:229) กล่าวไว้ว่าแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมไปจากอินเดียแล้ว แต่ก็ยังไม่สูญไปจากโลกเพราะผลจากการเผยแผ่ของสมณทูตของ 9 สาย ในยุคพระเจ้าอโศก
4. ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3
จากการสังคายนาทั้ง 3 ครั้ง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น มีผลต่อการรักษาธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก กล่าวคือการสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 3 เดือน จากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ แล้วได้มีการรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระธรรมวินัย เป็นผู้รวบรวมฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัยทำการสังคายนาขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของนิกายเถรวาท และพระไตรปิฎกในส่วนของพระสูตรและพระวินัยจนถือแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาการสังคายนาครั้งที่ 2 นั้นเกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 100 ปี ปรารภเหตุจากการประพฤติย่อหย่อนผิดพระวินัยของ ภิกษุวัชชีบุตร จึงมีการทบทวนพระธรรมวินัย และภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับการสังคายนาในครั้งนั้น จึงแยกกลุ่มออกมาสังคายนาต่างหากจนเกิดการแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือเถรวาทและมหาสังฆิกะ ต่อมาก็แตกเป็นอีก 18 นิกาย ในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 หลังพุทธปรินิพพาน 235 ปี ปรารภนักบวชนอกพระพุทธศาสนาปลอมบวชอาศัยพระพุทธศาสนาหาเลี้ยงชีพ เมื่อพระเจ้าอโศกชำระจับสึกนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงได้มีการรวบรวมทบทวนพระธรรมวินัยแยกเป็นพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก และมีการส่งสมณทูตออกไป 9 สาย ส่งผลให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนนั้นๆ และต่อมาแผ่ขยายไปทั้งในเอเชียและตะวันตก ถือได้ว่าการสังคายนามีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาธรรมวินัย ซึ่งถือได้ว่าตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป
ในส่วนความคิดเห็นต่างในข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เช่น การละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย ฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความรู้สึกของฝ่ายผู้ที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงจะเป็นการละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยก็ตาม ท่านก็จะตำนิอย่างแรง เพราะถือว่าการไม่ยกเลิกสิกขาบทใดเลย แม้เล็กน้อยเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องทิฐิมานะ เช่นภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับการสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดการไม่ยอมรับกัน จนทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ในเวลาต่อมา ดังนั้นการมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องธรรมวินัยและถือทิฐิมานะเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกจนนำมาสู่การแตกเป็นนิกายต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันความเห็นต่างในข้อปฏิบัติเกิดขึ้นมากหมายในสังคมปัจจุบัน เกิดการถกเถียงกัน การตีความในธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติในข้อพระธรรมวินัยโดยถือตามทิฐิตัวเองเป็นหลัก ทำให้ห่างไกลจากธรรมวินัยดั้งเดิม นำมาสู่ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในที่สุด
On 22:15 by EForL   No comments

การสังคายนาครั้งที่ 2
การสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการตอบ โดยมีพระเจ้ากาลาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภ์ การทำสังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ใช้เวลา 8 เดือน ซึ่งปรากฏใน สัตตสติกขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 446-458/ 393-420) กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ 100 ปี ภิกษุเมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี ได้มีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับวัตถุ 10 ประการ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ผิดพระวินัย ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าผิดพระวินัย จนเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้เกิดความที่ต่างกันเรื่อง วัตถุ 10 ประการ โดยภิกษุชาววัชชีบุตรได้ตีความไปอีกอย่างโดยถือว่าเป็นอาบัติเล็กน้อยไม่สำคัญอะไรมากนัก จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ 2
วัตถุ 10 ประการ ตามที่ภิกษุวัชชีบุตรตีความไว้ คือ
1. ภิกษุเก็บเกลือไว้ในแขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้
2. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง 2 องคุลีได้
3. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน
จะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมได้
4. ในอาวาสเดียวกันมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกทำอุโบสถได้
5. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนก็ได้ โดยให้ผู้ที่มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้
6. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตามย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ
7. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (เนยใส) ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วจะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรมหรือทำให้เป็นเดนตามพระวินัยก็ได้
8. สุราที่ทำใหม่ๆยังมีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบยังไม่เป็นสุราเต็มที่ภิกษุจะฉันก็ได้
9. ผ้าปูนั่งนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภคใช้สอยก็ได้
10. ภิกษุรับและยินดีในเงินทองที่เขาถวาย ไม่เป็นอาบัติ
เมื่อการสังคายนาเสร็จสิ้นผลจนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ทุกข้อที่พระสัพพกามีวิสัชชนา ฝ่ายพระเรวตเถระได้เสนอให้สงฆ์ทราบทุกข้อและขอมติจากสงฆ์เพื่อให้ยอมรับว่า วัตถุเหล่านี้ผิดธรรม ผิดวินัย เป็นการหลีกเลี่ยงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้ขอให้สงฆ์ลงมติทุกครั้งที่พระสัพพากมีเถระตอบ มติของสงฆ์จึงเห็นว่าวัตถุ 10 ประการนี้ ผิดธรรม ผิดวินัย โดยเสียงเอกฉันท์
หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ฝ่ายพระภิกษุวัชชีบุตรไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์จึงแยกไปทำสังคายนาที่เมืองปาฏลีบุตร ซึ่งมีพระสงฆ์เข้าร่วม 10,000 รูป และเรียกกลุ่มของตนว่ามหาสังคีติ หรือมหาสังฆิกะ เพราะเป็นกลุ่มใหญ่มากจึงแตกออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายพระสัพพกามีเถระ และฝ่ายมหาสังฆิกะ ซึ่งต่อมาก็แตกเป็นอี 18 นิกาย โดยมี 7 นิกายแตกออกมาจากมหาสังฆิกะ เกิดเมื่อปี พ.ศ.100-200 ส่วน 11 นิกายที่แตกมาจากเถรวาท เกิดเมื่อปี พ.ศ. 200 เป็นต้นมา (มหาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย, 2550 : 74)
แต่ละนิกายที่แตกย่อยออกไปนั้นต่างมีความเห็นแตกต่างกันทางด้านอุดมคติ การตีความของพระธรรมวินัยไปต่างๆนาๆ และนำไปสู่การปฏิบัติที่ต่างกันอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับ สิริวัฒน์ คำวันสา (2545:66-68) ได้กล่าวไว้ว่า การแตกแยกในครั้งนั้นได้แยกออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มของพระยสกากัณฑบุตรและกลุ่มภิกษุวัชชีบุตร โดยเรียกกลุ่มแรกว่าเป็นนิกาย เถรวาท(สถวีรวาท ในภาษาสันสฤต) เพราะเป็นกลุ่มอนุรักษ์แนวคิดของกลุ่มพระเถระผู้ทำสังคายนาครั้งแรกที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ซึ่งพยามรักษาคำสอนดั้งเดิมไว้มากที่สุด และเรียกกลุ่มหลังว่าเป็นนิกาย อาจริยวาทเพราะเป็นกลุ่มที่ถือเอาความคิดของอาจารย์ของตนเป็นหลัก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นนิกาย มหาสังฆิกะเพราะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนของพระภิกษุมาก ต่อมานิกายทั้งสองได้เกิดการแตกออกอีกซึ่งนิยมถือกันว่ามีถึง 18 นิกาย แต่ในความจริงน่าจะมีมากกว่านั้น
ในกรณีความเห็นต่างเรื่องการรับเงินรับทอง ต้องดูสภาพสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่นในสมัยพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าอยู่เป็นหลักให้กับพระพุธศาสนา ด้วยบารมีของพระองค์ ทั้งเศษรฐีและกษัตริย์มีความศรัทธามาก จึงไม่มีปัญหาการดำรงชีพของสมณะ ทุกอย่างไม่ขลาดแคน แต่หลังพุทธกาลพอไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว ความศรัทธาของญาติโยมก็ไม่เหมือนตอนพุทธกาล เพราะสังคมมันเปลี่ยน เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้บอกกับพระอานนท์ว่าอานนท์หากสงฆ์เห็นสมควร ให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ คือพระองค์อนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ผ่านมาพระอานนท์ลืม ตอนสังคายนาครั้งแรก พระอานนท์ก็ตอบไม่ได้เพราะลืมถามพระพุทธเจ้า พระวินัยเป็นสิ่งที่คอยร้อยรัดพระสงฆ์ให้อยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นเรื่องการปฏิบัติจะมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ในทางวินัยจะมีความเห็นต่างกัน พระมหากัสสปะเสนอว่าสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วจะไม่เพิกถอนและจะสมาทานสิกขาบทนั้น สงฆ์มีมติจึงเห็นด้วยจึงไม่มีการเพิกถอนพระวินัย เรื่องนี้มีการจารึกไว้ในพระไตรปิฎกปรากฏกในปัญจสติก ขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 442/ 383) จึงเป็นหลักปฏิบัติตามมาของเถรวาท แต่เจตนาของพุทธเจ้าคือเมื่อสังคมเปลี่ยนไปก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองการณ์ไกล แต่ในส่วนที่พระกัสสปะไม่ยอมแก้ก็เป็นส่วนที่ดี ทำให้เถรวาทยังคงรักษาพระวินัยดั้งเดิมไว้ แต่ตัวพระวินัยก็ยึดหลักไว้ แต่ในเชิงปฏิบัติก็ยืดหยุ่นได้โดยการมองทุกอย่างไปในทางเจตนารมณ์ ไม่ใช่ไปดูถูกคนแบบแข็ง แต่ดูเจตนารมณ์เพื่อเอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจและการเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็ แต่ถ้าหากมีใครถือ แบบเคร่งครัดเกินก็จะเกิดการแตกแยกทันที นี่คือบทเรียนจากครั้งพุทธกาล


การสังคายนาครั้งที่ 1

การสังคายนาในครั้งพุทธกาลมีปรากฏในสังคีติสูตร (ที.ปา. (ไทย) 10/ 296-349/ 247-366) กล่าวไว้ว่า พระสารีบุตรได้ปรารภเรื่องปัญหาของศาสนาเชนที่เกิดขึ้นนั้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผน โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรง มาจัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (2554:13) กล่าวไว้ว่า วิธีรักษาพระธรรมวินัย ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แล้วจัดหมวดหมู่ให้กำหนดจดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว แล้วสวดสาธยายพร้อมกันแสดงความยอมรับเป็นแบบแผนเพื่อทรงจำสืบต่อกันมา วิธีการนี้เรียกว่า สังคายนา หรือ สังคีติซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า การสวดพร้อมกัน (จาก สํ พร้อมกัน” + คายน หรือ คีติ การสวด”)
การสังคายนาในพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นวิธีการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติมตามใจชอบ เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม
ในการทำสังคายนาที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกนิกายคือการสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ที่ 2 ส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 นั้นยอมรับเฉพาะฝ่ายเถรวาท และในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 4 นั้นฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับ เพราะถือว่าเป็นส่วนของมหายานที่แยกออกมา
จากข้อมูลในสังคีติสูตรนั้น แม้ว่าพระสารีบุตรได้แสดงตัวอย่างวิธีการทำสังคายนาไว้แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ต่อมาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือนได้เกิดการทำสังคายนาขึ้น มีเรื่องราวปรากฏในปัญจสติก ขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 437-445/ 375-392) ว่าด้วยมูลเหตุการณ์ทำสังคายนาครั้งที่ 1 มีเนื้อหาโดยรวมคือ พระมหากัสสปเถระ เมื่อทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้นมีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า กล่าวจ้าบจ้วงพระธรรมวินัย พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็ยังมีคนคิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา ท่านจึงวางแผนว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ จะชวนให้มาประชุมกันมาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวมประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนาแต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย เมื่องานถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ท่านก็ดำเนินงานตามที่ได้คิดไว้คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่เพื่อจะทำการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง 3 เดือน ก่อนที่จะประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ นอกเมืองราชคฤห์ ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหากัสสปเถระ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถามหลักคำสั่งสอน ซึ่งพระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น 2 ส่วน คือ พระธรรมและวินัย ในการสังคายนาครั้งนี้ มีการเลือกพระเถระ 2 รูป ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของพระธรรมวินัย ฝ่ายธรรมก็คือพระอานนท์ ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว พระอรหันต์ 500 รูป ก็เริ่มประชุมกัน จากนั้นก็ให้พระเถระทั้งสองรูปนำพุทธพจน์มาสาธยายแสดงแก่ที่ประชุม โดยประธานในที่ประชุมคือพระมหากัสสปะ วางแนวการนำเสนอด้วยการซักถามอย่างเป็นระบบ คือตามลำดับและเป็นหมวดหมู่พุทธพจน์
          ในระหว่างสังคายนา พระอานนท์ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า พระสัมมาพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่า ถ้าสงฆ์เห็นสมควรก็สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ประชุมความเห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นหมายถึงสิกขาบทข้อใดบ้าง พระมหากัสสปะจึงสรุปว่าจะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว และจะไม่บัญญัติสิกขาบทที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งที่ประชุมสงฆ์ก็รับรองเป็นเอกฉันท์ จึงเป็นหลักปฏิบัติต่อมาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทจนมาถึงปัจจุบัน การทำสังคายนาครั้งนี้ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น
          หลักจากนั้นไม่นาน ก็มีพระเถระชื่อ พระปุราณะ พร้อมลูกศิษย์ 500 รูป เดินทางสู่เชตวัน กรุงราชคฤห์ พระที่ร่วมกันสังคายนาก็ได้ไปแจ้งให้ทราบว่าได้ทำสังคายนาเสร็จแล้ว ขอให้ท่านรับมติของสงฆ์ด้วย แต่พระปาณะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและวินัยดีแล้ว แต่ท่านจะทรงจำไว้ตามที่ได้ยินเฉพาะพระพักตร์ (วิ.จู. (ไทย) 7 / 444/ 385-386) พระปุราณะมีความเห็นส่วนใหญ่ตรงกับการสังคายนาครั้งนี้ แต่มีเพียงเรื่องกถาวัตถุ 8 ที่เป็นพุทธานุญาตพิเศษเมื่อคราวเกิดทุพพภิขภัย แต่ในภายหลังทุพพภิกขภัยสงบลงพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามกถาวัตถุ 8 พระปุราณะและศิษย์คงไม่ทราบตอนที่พระพุทธองค์ทรงห้ามจึงยังคงถือปฏิบัติตามที่ได้สดับมาจากพระพุทธองค์ (วิ.มหา. (ไทย) 5/ 274/ 72)
ด้วยเหตุนี้เองความเห็นต่างในเรื่องข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เกิดขึ้นตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรก แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการแตกนิกาย 
มูลเหตุการณ์สังคายนาครั้งที่ 1
1. มูลเหตุในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นจากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้งก็รู้สึกสลดใจ ดำริว่าหากปล่อยไว้นานเข้า คำสอนของพระพุทธศาสนาอาจถูกบิดเบือนไปได้ 
2. เพื่อความยั่งยืนของพระธรรมวินัย และความถูกต้อง
3. เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า (เสถียร โพธินันทะ.2543:56)
ผลที่เกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 1
1. เกิดการเรียบเรียงพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ก็ยังทำให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา มีการพระวินัยและพระธรรมเป็นหมวดหมู่ มีการปรับอาบัติพระอานนท์ มีการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ มีการยอมรับมติของพระมหากัสสปะให้คงสิกขาบทเดิมไว้ทั้งหมด
2. ในการสังคายนาครั้งนี้ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือยึดถือคำสอนตามหลักการของพระเถระ 500 รูป ที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งถูกเรียบเรียงเป็นพระสูตรและพระวินัยเกิดขึ้น ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ จึงมีการท่องจำสืบต่อกันมาและถือตามนั้นโดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
3. เกิดความเห็นต่างในเรื่องทิฏฐิสามัญญตา(ความเห็น) และสีลสามัญญตา(ข้อปฏิบัติ) ไม่ตรงกัน จะเห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ของพระปุราณะและลูกศิษย์ แม้ในขณะนั้นยังไม่เกิดการแตกนิกายก็ตาม แต่มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการสังคายนาและการแตกนิกายในครั้งต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับ เสถียร โพธินันทะ (2543:56) กล่าวไว้ว่าในการสังคายนาครั้งที่ 1 เกิดจากการทำสังคายนาเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภิกษุอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประชุม และในจำนวนนั้นมีบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการสังคายนาของฝ่ายพระมหากัสสปะ โดยเฉพาะสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความคิดเห็นในข้อปฏิบัติที่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการสังคายนาครั้งต่อๆ มา จนนำมาสู่การแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากหมายมาถึงปัจจุบัน
4. เป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันว่า พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบต่อมา ถึงแม้ว่าพระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม
5. เป็นการป้องกันการกล่าวว่าร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร้เหตุผลในอนาคต


การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน พบว่าแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายานนี้มีพัฒนาการมาจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการคือ มาจากการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมพระพุทธศาสนาเอง อิทธิพลของศาสนาฮินดูที่แทรกซึมปะปนเข้ามา อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมเปอร์เซีย รวมถึงอิทธิพลของศิลปกรรมกรีกโบราณด้วย มหายานให้ความสำคัญกับบารมีธรรม เพราะเป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญพร้อมกับช่วยเหลือสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ไปด้วย จึงทำให้พระโพธิสัตว์สูงกว่าพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งต่างกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเถรวาทเชื่อว่าบารมีเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาแล้วไม่สำคัญเท่ากับธรรมที่บำเพ็ญก่อนจะตรัสรู้ มหายานยึดหลักประโยชน์เป็นสำคัญเรียงจากต่ำไปหาสูง คือเพื่อประโยชน์ตนเพื่อนิรวาณและเพื่อสรรพสัตว์ บารมีของพุทธมหายานส่วนใหญ่ถือว่ามี 6 แต่บางคัมภีร์เพิ่มเป็น 10 ตามแบบอย่างเถรวาท การเผยแผ่ธรรมของพระโพธิสัตว์ในมหายานนั้นทำให้ทราบถึงบทบาทการเผยแผ่ธรรมในจำนวนหลักธรรมทั้ง 10 ข้อ เนื่องจากว่ามหายานให้ความสำคัญกับแนวคิดพระโพธิสัตว์ที่ทุกคนมีโพธิจิตสามารถบำเพ็ญบารมี เพื่อเข้าถึงพุทธภาวะได้ พร้อมกับช่วยเหลือสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ก่อนตนขอพ้นทุกข์ในภายหลัง ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนามหายานให้ความสำคัญแก่สังคมทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลักนั้น เพราะใช้หลักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก เป็นพื้นฐาน
15
 
สำคัญต่อทุกคำสอนของพุทธศาสนามหายานที่มุ่งบำเพ็ญบารมีตามหลักพระโพธิสัตว์ทำให้พระพุทธศาสนามหายานเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งนี้ที่ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของพุทธศาสนามหายานที่สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายกว่าเถรวาทโดยยึดเอาบุคคลเป็นหลัก คำนึงถึงสติปัญญาความคิดความรู้และความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ แทนที่จะปรับบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์ แต่ปรับพระพุทธพจน์เข้าหาบุคคล เพื่อประโยชน์แก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ ดังนั้นเราต้องไม่นับถือพระพุทธศาสนาเพียงเพื่อต้องการยกย่องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อลบล้างหรือต่อต้านอีกสิ่งหนึ่ง หรือตามกระแสค่านิยม เพราะจะทำให้เราไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย มีแต่จะสร้างความขัดแย้งและการแตกแยกกันขึ้นในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน สถาปนาตนเองเป็นประดุจพระโพธิสัตว์ที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ พระพุทธศาสนาก็จะได้รับการปกป้องรักษา และเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กว้างไกลสู่ใจชาวโลกทุกคน

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ครั้งหนึ่ง...ในสมัยพุทธกาล
เทวดาได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
                อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง
           อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน
           อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น
           อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า.
         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง
          มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
          สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ
          บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า.

คนสมัยก่อนเวลาจะเดินทางไกลต้องไปกันเป็นหมู่ เป็นคณะใหญ่ ถ้าให้เดินทางคนเดียวหรือไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็จะไม่ไปเพราะตลอดเส้นทางมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน
แต่ถ้าได้เกวียนเป็นยานพาหนะแม้ไปคนเดียวก็กล้าไป เพราะเสียงโคลากเกวียนจะทำให้สัตว์ร้ายกลัว โจรห้าร้อยที่ดักซุ้มอยู่ระหว่างทางก็ไม่กล้าเข้ามาปล้น ทำให้การเดินทางไปถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย พวกเกวียนและโคจึงได้ชื่อว่าเป็นมิตรในการเดินทาง

เมื่อโรคที่น่ารังเกียจเกิดขึ้นในร่างกายของเรา
คนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพี่น้องของเรา บุตรหรือคู่ชีวิตของเราอาจจะรังเกียจ
แต่ผู้เป็นมารดาจะไม่รังเกียจ และจะมองว่าของที่ไม่สะอาดของบุตรเป็นราวกับว่าของมีค่า
เพราะฉะนั้น มารดาจึงได้ชื่อว่าเป็นทั้งมิตร เป็นทั้งสหายในเรือนของตน

คนที่ขยันจัดงาน หรือมีกิจธุระมาก ย่อมต้องการคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ บุคคลใดเข้ามาอาสาช่วยเหลือนำกิจนั้นไปทำให้สำเร็จ บุคคลนั้นชื่อว่าสหาย ชื่อว่ามิตร
เพราะเป็นผู้ที่ทำกิจทั้งหลายให้สำเร็จร่วมกัน. ตรงกันข้ามถ้าบุคคลใดเป็นสหายเฉพาะช่วงดื่มน้ำเมา  บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นมิตร


สุดท้ายของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้เมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย สิ่งของทุกอย่างที่เคยเป็นของเราเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ เวลาเราตายสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป เพื่อนที่เราต้องการที่สุดในยามที่เราต้องเดินทางของจากร่างไปนั้นก็คือบุญกุศล เพราะบุญกุศลที่เราทำไว้ดีแล้ว จะเป็นมิตรแท้ที่ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

On 02:56 by EForL in    No comments
มีคำกล่าวว่า หนทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูจน์คน”  การที่จะรู้จักเข้าใจใครสักคนหนึ่ง  เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา  เพราะจิตมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง  มีความลึกลับเป็นปริศนาซุกว่อนอยู่มากมาย  ทำให้บางทีแม้แต่ตนเองก็ยังไม่เข้าใจกระจ่างในตัวเองสักเท่าไหร่  ดังนั้นการทำความรู้จักผู้อื่นจึงจำเป็นต้องอาศัยเวลา และยังต้องมีเหตุการณ์ที่เหมาะสมเป็นเครื่องพิสูจน์อีกด้วย  ซึ่งในพระพุทธศาสนา ได้สอนวิธีดูคนไว้ใน สัตตชฎิลสูตร  ดังนี้
๑) ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน  ศีลนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลเล็กน้อย  ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้  ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้
 ๒) ความสะอาดจะพึงรู้ได้ด้วยการงาน
๓) กำลังใจจะพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
๔) ปัญญาจะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
การดูคนออกแม้จะเป็นสิ่งที่ยากต้องอาศัยความช่างสังเกต  และการฝึกฝนเป็นเวลานาน
แต่ก็มีวิธีลัด  คือ ดูตนเองให้ออกเสียก่อน  โดยการฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น เราไม่ชอบอะไรคนอื่นก็ไม่ชอบสิ่งนั้นเหมือนกัน เมื่อเรารู้จักรู้เท่าทันจิตใจตนเองได้ ก็จะสามารถ ทันโลก  ทันคน”  ได้ไม่ยาก

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรามาช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมไทย ให้คงอยู่คู่แผ่นดินนี้ตราบนานเท่านาน
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า
วัฒนธรรมมีส่วนช่วยสร้างชาติ            พัฒนาราษฎร์เรื่องธรรมลํ้าค่าผล
วัฒนธรรมนำไทยไม่อับจน                  ค่ามากล้นดลไทยให้เจริญ

ในปัจจุบันการส่งข้อมูลข่าวสารสะดวกรวดเร็วมาก เพราะว่ามี social media เป็นสื่อกลางในการส่งสาร แต่ว่าจะมีสักกี่คนที่ใช้ข้อดีตรงจุดนี้ในการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารหรือกิจกรรมที่เป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยของเราบ้าง

ในช่วงวันออกพรรษา (ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๗ ตุลาคม) ของแต่ละจังหวัด แต่ละท้องที่ก็จัดงานเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งประเพณีที่สำคัญและมักจัดกันทุก ๆ จังหวัดในเทศกาลงานออกพรรษานี้ก็คือ ประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ
คำว่า "เทโวโรหณะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก คือ วันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่ไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา
ครั้นออกพรรษาแล้วได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับมายังโลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสนคร    ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑




ในวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงมานั้น ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีสว่างไสวเรืองรองไปทั่ว 
และด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ทำให้ชาวสวรรค์ มนุษย์ สัตว์นรก ได้เห็นกันหมดด้วยตาเนื้อ

เมื่อได้เห็นความอัศจรรย์นั้นต่างเกิดมหาปีติ พากันตั้งความปรารถนาที่จะเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้ากันอย่างมากมาย แม้แต่มดซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานยังมีความรู้สึกนึกคิดปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าด้วย เหล่าพญานาคที่ได้เห็นความอัศจรรย์นี้เพื่อเป็นการระลึกนึกความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างพากันออกมาพ่นดวงไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา (ปัจจุบันก็ยังมีอยู่) ส่วนประชาชนที่มารอรับ ก็พร้อมใจกันทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ   เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้ จึงตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนลงบาตร ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่า "ตักบาตรเทโวโรหณะ "

เราชาวพุทธเมื่อถึงวันเทโวโรหณะ นิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัดใกล้บ้าน โดยทั่วไปมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติตนดังนี้


๑. เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์
 ๒. หลักจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล
 ๓. ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส
 ๔. แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ส่วนวัดที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อสืบสานวัฒนธรรมการตักบาตรเทโวโรหณะ ได้แก่