วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

เรื่องมีอยู่ว่า นายปุณณะ เป็นคนยากจนเข็ญใจ เขาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานให้กับสุมนเศรษฐี เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ ในครอบครัวของเขาประกอบด้วยภรรยา ๑ คน และบุตรสาวอีก ๑ คน ทั้งสองคนเป็นคนดีมากๆ คอยดูแลเอาใจใส่เขาอย่างดี แม้จะมีความเป็นอยู่ที่ลำบากก็ไม่ทอดทิ้งกัน
ต่อมาวันหนึ่ง กรุงราชคฤห์มีการจัดงานมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน สุมนเศรษฐีจึงถามเขา "ว่าจะไปเที่ยวชมมหรสพหรือรับจ้างทำงาน" เขาตอบว่า "มหรสพเป็นเรื่องของคนรวย ส่วนเขาเป็นคนยากจน ข้าวสารกรอกหม้อในวันพรุ่งนี้ยังไม่มีกิน จะขอรับจ้างทำงานเหมือนกับทุกวัน"สุมนเศรษฐีจึงให้งานไถนาแก่เขา
นายปุณณะรับวัวและไถมาแล้ว ก่อนจะออกบ้าน เขาได้บอกภรรยาให้ทำอาหารเช้าเป็นผักต้มมากกว่าทุกวันเป็นสองเท่า แล้วให้นำไปส่งเขาที่ท้องนานอกเมือง
ขณะนั้น พระสารีบุตรเพิ่งออกจากการเข้านิโรธสมาบัติมาตลอด ๗ วัน เห็นนายปุณณะปรากฏในข่ายญาณทัศนะของท่าน ก็ทราบว่าเขาเป็นเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า ถึงแม้จะมีฐานะยากจนก็ตาม แต่หากเขาได้ทำบุญกับท่านในเช้าวันนี้ เขาจะได้เป็นมหาเศรษฐีใจบุญค้ำจุนพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต ท่านปรารถนาจะอนุเคราะห์ให้เขาพ้นจากความลำบากยากจน จึงลุกจากที่หลีกเร้น เดินไปหาเขาที่ท้องนา

นายปุณณะเห็นพระสารีบุตรเดินมาแล้วก็รีบวางคันไถ ก้มกราบด้วยความเคารพ รีบทำไม้ชำระฟันนำไปถวายท่าน รับบาตรและผ้ากรองน้ำจากมือท่านแล้ว ก็รีบนำไปกรองน้ำดื่มมาถวายท่าน
พระสารีบุตรรออยู่ที่นั่นสักครู่ ก็ทราบว่าภรรยาของนายปุณณะเตรียมอาหารเช้าเสร็จแล้ว กำลังเดินทางเกือบจะถึงท้องนาแล้ว ท่านจึงเดินมุ่งหน้าตรงไปยังกรุงราชคฤห์
ในระหว่างทางนั้นเอง ภรรยาของนายปุณณะได้พบเห็นพระสารีบุตรกำลังเดินบิณฑบาต ก็ได้คิดขึ้นว่า 'การทำทานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับเรา เพราะบางครั้งมีเนื้อนาบุญแต่ไม่มีไทยธรรมก็ทำไม่ได้ มีไทยธรรมแต่ไม่มีเนื้อนาบุญก็ไม่ได้ทำ แต่วันนี้มีครบทั้งสองอย่าง เราควรทำบุญก่อนเถิด'
ภรรยาของนายปุณณะวางภาชนะใส่อาหารลง ก้มกราบพระสารีบุตรแล้ว กล่าวนิมนต์ว่า"พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอโปรดจงอย่าคิดว่าภัตตาหารนี้เศร้าหมองหรือประณีตเลย จงทำความสงเคราะห์แก่ทาสผู้เคารพและศรัทธาต่อพระคุณเจ้าด้วยเถิด"
เมื่อภรรยาของนายปุณณะถวายภัตตาหารได้ครึ่งหนึ่ง พระสารีบุตรก็วางมือปิดบาตร นางจึงกล่าววิงวอนว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ โปรดอย่าสงเคราะห์ดิฉันแค่เพียงในชาตินี้เลย โปรดสงเคราะห์ดีฉันในสัมปรายภพด้วยเถิด" พระสารีบุตรก็เปิดบาตรออกให้นางใส่ภัตตาหารอีกครึ่งหนึ่งลงไป
ภรรยาของนายปุณณะถวายภัตตาหารเสร็จแล้วก็กล่าวว่า "ขอผลานิสงส์แห่งบุญนี้ จงส่งผลให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรมเช่นเดียวกับที่พระคุณเจ้าได้บรรลุแล้วด้วยเทอญ"พระสารีบุตรกล่าวอนุโมทนาว่า "ขอจงสมปรารถนาเช่นนั้นทุกประการ"
นางปลาบปลื้มปีติในการถวายทานเป็นอันมาก ก้มกราบแล้วก็รีบกลับไปบ้าน หุงข้าวเตรียมอาหารชุดใหม่เสร็จแล้ว ก็รีบไปส่งให้กับสามีที่กำลังรอคอยด้วยความหิวอยู่ที่ท้องนา
นายปุณณะยังไม่ได้ทานอาหารเช้า ไถนาจนหมดแรง ภรรยาก็ยังไม่มาจึงไปนั่งรอใต้ร่มไม้ด้วยความหิวจนมือไม้สั่น ภรรยาเพิ่งก้าวมาถึงท้องนา เห็นสามีนั่งรออยู่ก็รู้ว่าหิวมาก ถ้าหากไม่ทำให้อารมณ์ดีก่อน ที่จะเกิดความโมโหหิวและลงมือทำร้ายตน การถวายทานด้วยภัตตาหารส่วนของสามีในเช้าวันนี้ก็จะกลายเป็นสูญเปล่า
นางจึงร้องบอกแต่ไกลด้วยถ้อยคำอ่อนหวานว่า “พี่จ๋า พี่จงทำใจให้ผ่องใสสักวันหนึ่งเถิด อย่าได้ทำบุญใหญ่ที่ฉันทำแล้วให้ไร้ประโยชน์ เมื่อเช้าฉันได้พบกับพระธรรมเสนาบดี ได้ถวายภัตตาหารแด่ท่าน แล้วกลับไปเตรียมมาใหม่ ขอพี่จงทำจิตให้เลื่อมใสในบุญนั้นเถิด”


นายปุณณะได้ยินดังนั้น ก็ตกตะลึงคิดว่าตัวเองหูฝาด พอได้ยินภรรยาเล่าซ้ำ ก็ปลื้มใจในบุญนั้นเป็นอันมาก แล้วก็เล่าการทำบุญในส่วนตัวของตน มีการถวายไม้ชำระฟันและน้ำบ้วนปาก ให้ภรรยาฟังบ้าง
สองสามีภรรยาปลื้มอกปลื้มใจกับบุญที่ได้อุปัฏฐากและถวายท่านแด่พระธรรมเสนาบดีเป็นอันมาก ฝ่ายสามีรับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็ล้มตัวนอนหนุนตักภรรยาหลับไปด้วยความอ่อนเพลียแต่ใจปลื้มในบุญ
ครั้นเมื่อนายปุณณะตื่นนอนขึ้นมา ก็ต้องกระพริบตาด้วยความตกตะลึง เมื่อท้องนาที่ไถไว้เมื่อเช้าตรู่ ได้ผันแปรเปลี่ยนเป็นทองคำ ทีแรกยังคิดว่าตนเองตาฝาด จึงสอบถามภรรยาก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง เขายิ่งปลื้มใจในบุญ นึกถึงพระคุณของพระสารีบุตรเป็นอันมาก
ต่อจากนั้น เขาได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อพระราชา เมื่อทำการแสดงทรัพย์สินแล้ว ปรากฏว่าทองคำทั้งหมดที่ขนมาจากท้องนา มีปริมาณมากจนล้นพระลานหลวง กองท่วมเป็นภูเขาสูงขึ้นไป ๘๐ ศอก เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในกรุงราชคฤห์ บุญจากการถวายทานกับพระสารีบุตรได้ส่งผลในวันนั้นเอง

นายปุณณะและครอบครัวได้ฉลองตำแหน่งเศรษฐีด้วยการอาราธนาพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์มาทำบุญถวายภัตตาหารที่บ้านเป็นเวลา ๗ วัน หลังจากฟังพระบรมศาสดาแสดงธรรมแล้ว ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทั้งครอบครัว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น