วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558


พระพุทธศาสนานิกายมหายานนั้นมีพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งสมัยพุทธกาลจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับประยงค์ แสนบุราญ ได้กล่าวไว้ว่า ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนชีพอยู่ หรือแม้แต่หลังเสด็จปรินิพพานแล้วใหม่ๆรูปแบบของนิกายมหายานยังไม่ได้เกิดขึ้นแม้แต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 2 พระพุทธศาสนาจะเริ่มแยกอออกเป็น 2 นิกาย คือ เถรวาท (สถวีรวาทิน) และอาจาริยวาท (มหาสังฆิกะ) หรือแม้แต่ในพุทธศตวรรษที่ 3 พระพุทธศาสนาจะแตกออกเป็น 18 นิกายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนิกายมหายานแต่อย่างใด เพียงแต่ถือว่าเป็นความคิดของคณาจารย์ที่ไม่ตรงกัน แต่ก็รับว่าเริ่มมีการก่อตัวขึ้นในช่วงนี้ จนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 (ประมาณพ.ศ.500 เศษๆ) พระอัศวโฆษ ภิกษุชาวเมืองสาเกตในสมัยพระเจ้ากนิษกะแต่งคัมภีร์ศรัทโธตปาทศาสตร์ขึ้น นิกายมหายานซึ่งเป็นกระแสที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นเวลานานจึงปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นในพุทธศตวรรษนี้และมีพัฒนาการต่อไปอย่างรวดเร็ว (ประยงค์ แสนบุราญ, 2549 : 65) ซึ่งการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามหายานในอินเดียเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น อาจมีสาเหตุมาจากหลายประการดังนี้
1. เกิดจากบ้างนิกายใน 18 นิกาย มหายานได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากทั้ง 18 นิกายของพุทธศาสนา และที่มีอิทธิพลมากต่อมหายานคือ นิกายมหาสังฆิกะ มหายานค่อยๆ พัฒนาและผสมผสานแนวความคิด หลักปรัชญาจากนิกายต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้นเป็นรูปร่างในราวพุทธศตวรรษที่ 6 โดยอภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์ (2527 : 83) กล่าวว่านิกายทั้ง18 นิกาย ต่างมีอุดมคติทัศนะทางหลักธรรมและวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง มหายานก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน เกิดขึ้นเพราะมีทัศนะในเรื่องอุดมคติต่างจาก 18นิกายคณาจารย์ในมหายานในสมัยนั้นล้วนแต่เป็นภิกษุใน 18 นิกายมาก่อน ภายหลังจึงแยกตัวออกมาตั้งนิกายมหายาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ในนิกายมหาสังฆิกะ และกลุ่มคณะของนิกายนั้นได้มีบทบาทสำคัญที่ก่อให้เกิดนิกายมหายาน
            2. การเน้นพุทธลักษณะ มหายานมีแนวความคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีลักษณะพิเศษ และยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ธรรมดาทั้งหลาย ควรมีสภาวะที่ยั่งยืนไม่มีขอบเขต แต่ด้วยพระมหากรุณาจึงทรงแสดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกเพื่อโปรดสัตว์โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2520 : 459-460) กล่าวว่า นิกายมหาสังฆิกะเห็นว่าภาวะของพระพุทธเจ้าทั้งนามและรูปเป็นโลกุตตระ พระชนม์ชีพยังยั่งยืนไม่มีขอบเขต สิ่งที่แตกดับเป็นเพียงมายาธรรมเท่านั้น ความคิดเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดลัทธิมหายาน ได้เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ จึงนำเอาโพธิจริยาทั้ง 10 ทัศมาประกาศเป็นพิเศษและตั้งอุดมคติที่จะให้มุ่งสำเร็จสัพพัญญุตญาณ มีโอกาสสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์และไม่พอใจในการบรรลุพระอรหันต์เพราะถือว่าคับแคบเฉพาะตน

3
3. แรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ ที่มีการแต่งมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะเพื่อดึงดูดใจผู้อ่านให้ภักดีต่อพระเจ้า กำหนดให้มีพระเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ศาสนาพราหมณ์จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ฝ่ายพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องปรับตัว โดยอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2519 : 463-465) กล่าวว่าฝ่ายพุทธศาสนาได้มีการปฏิรูปการเผยแพร่พุทธศาสนาเพื่อแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์โดยปฏิรูป 2 แนวคือ
ก. แนวแห่งบุคลาธิษฐาน โดยเพ่งเล็งถึงศรัทธาปสาทะของสามัญชนเป็นส่วนใหญ่สำคัญ โดยอนุโลมตามความต้องการของสามัญชน
ข. ปฏิรูปตามแนวแห่งธรรมาธิษฐาน เมื่อบัญญัติลัทธิทางบุคคลาธิษฐานเพื่อจูงศัทธาแล้วก็ต้องให้มีปัญญากำกับ
ด้วยวิธีการนี้เองส่งผลให้พระพุทธศาสนากลับมาครองใจประชาชนอีกครั้ง และสามารถดึงศาสนิกจากศาสนาพราหมณ์ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนากลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
4. เกิดจากพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ เนื่องจากนิกายมหายานเน้นที่การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระโพธิสัตว์เป็นคฤหัสถ์ได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอาจารย์เสถียร โพธินันทะ (2520 : 466) ให้ความเห็นว่าจากการปฏิรูปหลักธรรมเพื่อสู้กับพราหมณ์ดังกล่าว แม้จะเกิดจากพระเถระจาก 18 นิกายก็ตามแต่พระเถระเหล่านั้นเน้นการศึกษาปรัชญา ส่วนผู้ที่ปฏิรูปทั้งทางด้านธรรมาธิษฐานและปุคลาธิษฐานคือพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์พุทธบริษัทเหล่านี้พยายามเผยแพร่ศาสนาตามสังคมด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดและสะดวกกว่าพระสงฆ์ สามารถเผยแพร่ธรรมได้ทุกกาลสมัย และคนเหล่านี้ก็ปรารถนาโพธิญาณเพื่อจะได้เป็นพระโพธิสัตว์เช่นกันพระโพธิสัตว์ในเพศฆราวาสนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
ก.    พระโพธิสัตว์ฆราวาสซึ่งประพฤติพรหมจรรย์เหมือนสมณะ ประเภทนี้แม้จะครองเรือนอยู่แต่ก็รักษาความสงบภายในเรียก “ ฆราวาสมุนี ”
ข.   พระโพธิสัตว์ฆราวาสซึ่งยังบริโภคกามคุณเยี่ยงสามัญชนทั่วไป
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนในการทำหน้าที่ช่วยกันประกาศพระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดเฉพาะในคณะสงฆ์เท่านั้น ทุกคนมีบทบาทในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้รักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
จากมูลเหตุที่กล่าวมาแล้วทั้ง 4 ประการนั้น มหายานได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจาก18 นิกาย โดยเฉพาะนิกายมหาสังฆิกะรวมถึงความคิดการเน้นพุทธลักษณะที่ต่างจากเดิม และยังมีแรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ที่ทำให้ฝ่ายพุทธศาสนาเองต้องมีการปฏิรูปหลักธรรมใหม่เพื่อแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์ โดยมีพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทในการเผยแผ่พุทธศาสนาตามสังคมด้านต่างๆอย่างใกล้ชิดและสะดวกกว่าพระสงฆ์จนในที่สุดพระพุทธศาสนามหายานจึงปรากฏชัดเจนในคัมภีร์ศรัทโธปาทศาสตร์ โดยประยงค์ แสนบุญราณ (2548 : 96) ได้กล่าวว่า พุทธศตวรรษที่ 6 พระอัศวโฆษได้นิพนธ์คัมภีร์ศรัทโธปาทศาสตร์ประกาศตัวเองเป็นมหายานอย่างเต็มตัวต่อมาจากพุทธศตวรรษที่ 6-9 นิกายมหายานได้แตกนิกายออกอีก 3 นิกาย เฉพาะในอินเดีย หลังจากนั้นได้เผยแผ่เข้าไปในประเทศธิเบต เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และประเทศอื่นๆ
สำหรับพระพุทธศาสนามหายานในปัจจุบันเจริญรุ่งเรืองในแถบเอเชียตะวันออกได้แก่ ประเทศทิเบต จีน เกาหลี ไต้หวันญี่ปุ่น และเวียดนาม โซนตะวันตกได้แก่ประเทศอังกฤษ อิตาลีเยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นต้น ส่วนโซนโอเชียเนียนั้นอยู่ในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์โดยเฉพาะในปัจจุบันพบว่านิกายมหายานได้รับความนิยมจากทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลทางเวบไซต์ www.buddhanet.net ได้ให้ข้อมูลสถิติผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ทั่วโลก นิกายมหายานมีจำนวนผู้นับถือมากกว่านิกายอื่นๆ คือ มหายาน จำนวน 185,000,000 คน เถรวาท จำนวน 124,000,000 คน วัชรยาน (ทิเบต) จำนวน 20,000,000 คน (http://www.buddhanet.net/e-learning/history/bstats_b.htm)
(ที่มา : Statistics sourced fromwww.adherents.com) 
นอกจากนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบค้นหาคำว่า Vajrayan Tibetan, TharavadaและMahayana ในเว็บไซต์ https://www.google.com/trends จะพบว่า Mahayana มีเปอร์เซ็นต์ยอด
การค้นหาสูงกว่า Vajrayan Tibetan, Tharavada นี้ก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีความสนใจในการศึกษาพุทธศาสนามหายานมากกว่านิกายอื่น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันพุทธศาสนามหายานหลายนิกายได้เข้าไปเผยแผ่ในหลายๆประเทศซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในวงวิชาการและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะนิกายเซนและพระพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่กำลังได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานมากกว่านิกายอื่นนั้น เพราะพระพุทธศาสนามหายานเข้าถึงง่ายกว่า ส่วนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้าถึงยากเนื่องจากมีรายละเอียดลึกซึ้งมากกว่า และเกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนาเดิมที่สอนให้เชื่อเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในตะวันตก และเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่ท้าทายให้พิสูจน์โดยไม่บังคับให้เชื่อตาม อีกทั้งหลักคำสอนยังยึดเหตุผลและการไม่ใช้ความรุนแรง จึงทำให้ชาวตะวันตกเกิดศรัทธาและหันมานับถือพระพุทธศาสนา สิ่งที่น่าสนใจคือพระพุทธศาสนานิกายมหายานมีหลักคำสอนอย่างไรจึงทำให้ได้รับความนิยมนั้น เป็นสิ่งที่ควรศึกษาถึงหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน




สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนมีวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ให้สามารถอยู่ได้ยาวนานมากที่สุด
          พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ได้รับการสืบทอดมายาวนานมากกว่า 2,600 ปี จากอดีตสู่ปัจจุบันเกิดการแตกแขนงแบ่งออกเป็นนิกายต่างๆ อาทิเช่น นิกายเถรวาท นิกายมหายานและนิกายตันตระยาน โดยบ้างนิกายก็รักษารูปแบบและคำสอนดั้งเดิมไว้ บ้างก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิประเทศ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และตามยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป.
          ในสังคมยุคปัจจุบันปัญหาสังคมพระพุทธศาสนามหายานกำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งน่าที่สนใจคือว่าทำไมนิกายมหายานจึงเป็นที่ยอมรับของผู้คนอย่างกว้างขวางทั่วโลกมากกว่านิกายอื่น มีทิศทางเป็นอย่างไร มีจุดเด่นและความต่างจากพุทธดังเดิมหรือเปล่า และมีหลักธรรมคำสอนเป็นอย่างไร จึงสามารถปรับตัวเข้าสังคมได้ง่าย สิ่งเหล่านี้เองเป็นประเด็นที่ควรศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระพุทธศาสนามหายานมากยิ่งขึ้น และนำส่วนที่ดีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดทัศนะคติที่ดีต่อกัน ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายในพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาและนำมาสู่ความสมัครสมานสามัคคีกันในพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบไปในภายภาคหน้า

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

On 22:25 by EForL   No comments


การสังคายนาครั้งที่ 3

การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.. 236 มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา. อ. (ไทย) 1/  93-110) ด้วยเหตุที่ว่ามีพวกเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเนื่องจากพระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้น มีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก แต่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทำให้สงฆ์ที่ปฏิบัติชอบเกิดความรังเกียจ แยกพระจริงพระปลอมไม่ออก พระสงฆ์จึงไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเป็นเวลาถึง 7 ปี ฝ่ายพระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้ แต่อำมาตย์ทำเกินเลยบังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์ พวกภิกษุไม่ยอม อำมาตย์จึงได้ฆ่าภิกษุที่ขัดขืน 2-3 รูป พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่ ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้ พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้นเพราะทำเกินรับสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าอโศกได้โปรดให้ประชุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ เช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนองสัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง 60,000 รูป เมื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่  3  โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน 1,000 รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการามทำอยู่ 9 เดือนจึงเสร็จ
ในส่วนกรณี ที่พระเจ้าอโศกจับพระสึกเพื่อกำจัดภิกษุปลอมบวชนั้น ในส่วนหนึ่งถือได้ว่าทำด้วยความหากขาดโยนิโสมนสิกาในการพิจาณาให้ทีถ้วนก่อน เพราะการใช้วิธีการถามตอบนั้นอาจไม่ใช้วิธีการที่ดีที่สุดในการแยกแยะว่าพระรูปใดเป็นพระจริงพระปลอม เนื่องจากพระแต่ละรูปนั้นมีความเชียวชาญแตกต่างกัน เช่นบ้างรูปชอบทางปริยัติ บ้างรูปชอบปฏิบัติเข้าป่าปลีกวิเวก ก็อาจไม่มีความรู้ในทุกๆ เรื่องเสมอไป ด้วยเหตุนี้อาจมีผลที่ทำให้พระที่บริสุทธิ์ถูกจับสึกไปด้วย
ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม 500 คำตอบ 500 เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น เพื่อรักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้ หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 3 เสร็จลงพระเจ้าอโศกมหาราชจึงส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวม 9 สาย ดังนี้ คือ
1. พระมัชฌันติกเถระไปแคว้นกัศมีร์และคันธาระ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งได้แก่แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบันนี้
2. พระมหาเทวเถระ ไปมัหิสสกมณฑล อยู่ทางทิศตใต้ของแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งได้แก่ไมซอร์ในปัจจุบัน (อยู่ทางทิศใต้ของอินเดียติดกับเมืองมัทราส)
3. พระรักขิตเถระ ไปวนวาสีประเทศอยู่ในเขตกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้
4. พระโยนกธัมมรักขิตเถระ ไปปรันตชนบทอยู่ริมฝั่งทะเลอาระเบียนทิศเหนือของบอมเบย์
5. พระมหาธัมมรักขิตเถระ ไปแคว้นมหาราษฎร์ ภาคตะวันตกไม่ห่างจากบอมเบย์
6. พระมหารักขิตเถระ ไปโยนกประเทศ ได้แก่ เขตแดนแบคเทียในเปอร์เซียปัจจุบัน
7. พระมัชฌิมเถระ ไปหิมวันประเทศได้แก่เนปาลซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย
8. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระไปสุวรรณภูมิ
9. พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานที่เกาะสิงหล หรือประเทศศรีลังกา มีปรากฏในอรรถกถา มหาวิภังค์ (วิ.มหา.อ. (ไทย) 1/-/ 111)
สำหรับผลจากการส่งคณะธรรมทูตไปประกาศพระพุทธศาสนา 9 สาย ในครั้งนั้นทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าได้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนต่างๆ และต่อมาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเอเชียและตะวันตก ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระพุทธศาสนาคงอยู่คู่โลกมาได้จนถึงปัจจุบัน ดั่งที่กองวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย (2550:229) กล่าวไว้ว่าแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมไปจากอินเดียแล้ว แต่ก็ยังไม่สูญไปจากโลกเพราะผลจากการเผยแผ่ของสมณทูตของ 9 สาย ในยุคพระเจ้าอโศก
4. ผลจากการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3
จากการสังคายนาทั้ง 3 ครั้ง ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น มีผลต่อการรักษาธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก กล่าวคือการสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพุทธปรินิพพานประมาณ 3 เดือน จากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ แล้วได้มีการรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยให้พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญพระธรรมวินัย เป็นผู้รวบรวมฝ่ายพระธรรมและฝ่ายพระวินัยทำการสังคายนาขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของนิกายเถรวาท และพระไตรปิฎกในส่วนของพระสูตรและพระวินัยจนถือแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาการสังคายนาครั้งที่ 2 นั้นเกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 100 ปี ปรารภเหตุจากการประพฤติย่อหย่อนผิดพระวินัยของ ภิกษุวัชชีบุตร จึงมีการทบทวนพระธรรมวินัย และภิกษุวัชชีบุตรไม่ยอมรับการสังคายนาในครั้งนั้น จึงแยกกลุ่มออกมาสังคายนาต่างหากจนเกิดการแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือเถรวาทและมหาสังฆิกะ ต่อมาก็แตกเป็นอีก 18 นิกาย ในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 หลังพุทธปรินิพพาน 235 ปี ปรารภนักบวชนอกพระพุทธศาสนาปลอมบวชอาศัยพระพุทธศาสนาหาเลี้ยงชีพ เมื่อพระเจ้าอโศกชำระจับสึกนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงได้มีการรวบรวมทบทวนพระธรรมวินัยแยกเป็นพระไตรปิฎกคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก และมีการส่งสมณทูตออกไป 9 สาย ส่งผลให้พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและเจริญรุ่งเรืองอยู่ในดินแดนนั้นๆ และต่อมาแผ่ขยายไปทั้งในเอเชียและตะวันตก ถือได้ว่าการสังคายนามีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาธรรมวินัย ซึ่งถือได้ว่าตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป
ในส่วนความคิดเห็นต่างในข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เช่น การละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย ฝ่ายหนึ่งอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความรู้สึกของฝ่ายผู้ที่เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ถึงจะเป็นการละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยก็ตาม ท่านก็จะตำนิอย่างแรง เพราะถือว่าการไม่ยกเลิกสิกขาบทใดเลย แม้เล็กน้อยเป็นการแสดงความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องทิฐิมานะ เช่นภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับการสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดการไม่ยอมรับกัน จนทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ในเวลาต่อมา ดังนั้นการมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องธรรมวินัยและถือทิฐิมานะเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกจนนำมาสู่การแตกเป็นนิกายต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันความเห็นต่างในข้อปฏิบัติเกิดขึ้นมากหมายในสังคมปัจจุบัน เกิดการถกเถียงกัน การตีความในธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติในข้อพระธรรมวินัยโดยถือตามทิฐิตัวเองเป็นหลัก ทำให้ห่างไกลจากธรรมวินัยดั้งเดิม นำมาสู่ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในที่สุด
On 22:15 by EForL   No comments

การสังคายนาครั้งที่ 2
การสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการตอบ โดยมีพระเจ้ากาลาโศกราชเป็นองค์อุปถัมภ์ การทำสังคายนาในครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ใช้เวลา 8 เดือน ซึ่งปรากฏใน สัตตสติกขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 446-458/ 393-420) กล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ 100 ปี ภิกษุเมืองเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี ได้มีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับวัตถุ 10 ประการ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ผิดพระวินัย ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าผิดพระวินัย จนเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้เกิดความที่ต่างกันเรื่อง วัตถุ 10 ประการ โดยภิกษุชาววัชชีบุตรได้ตีความไปอีกอย่างโดยถือว่าเป็นอาบัติเล็กน้อยไม่สำคัญอะไรมากนัก จนเป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ 2
วัตถุ 10 ประการ ตามที่ภิกษุวัชชีบุตรตีความไว้ คือ
1. ภิกษุเก็บเกลือไว้ในแขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้
2. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง 2 องคุลีได้
3. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วเข้าไปสู่บ้าน
จะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมได้
4. ในอาวาสเดียวกันมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกทำอุโบสถได้
5. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกัน จะทำอุโบสถไปก่อนก็ได้ โดยให้ผู้ที่มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้
6. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตามย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ
7. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (เนยใส) ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วจะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรมหรือทำให้เป็นเดนตามพระวินัยก็ได้
8. สุราที่ทำใหม่ๆยังมีสีแดงเหมือนเท้านกพิราบยังไม่เป็นสุราเต็มที่ภิกษุจะฉันก็ได้
9. ผ้าปูนั่งนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภคใช้สอยก็ได้
10. ภิกษุรับและยินดีในเงินทองที่เขาถวาย ไม่เป็นอาบัติ
เมื่อการสังคายนาเสร็จสิ้นผลจนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ทุกข้อที่พระสัพพกามีวิสัชชนา ฝ่ายพระเรวตเถระได้เสนอให้สงฆ์ทราบทุกข้อและขอมติจากสงฆ์เพื่อให้ยอมรับว่า วัตถุเหล่านี้ผิดธรรม ผิดวินัย เป็นการหลีกเลี่ยงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้ขอให้สงฆ์ลงมติทุกครั้งที่พระสัพพากมีเถระตอบ มติของสงฆ์จึงเห็นว่าวัตถุ 10 ประการนี้ ผิดธรรม ผิดวินัย โดยเสียงเอกฉันท์
หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ฝ่ายพระภิกษุวัชชีบุตรไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์จึงแยกไปทำสังคายนาที่เมืองปาฏลีบุตร ซึ่งมีพระสงฆ์เข้าร่วม 10,000 รูป และเรียกกลุ่มของตนว่ามหาสังคีติ หรือมหาสังฆิกะ เพราะเป็นกลุ่มใหญ่มากจึงแตกออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายพระสัพพกามีเถระ และฝ่ายมหาสังฆิกะ ซึ่งต่อมาก็แตกเป็นอี 18 นิกาย โดยมี 7 นิกายแตกออกมาจากมหาสังฆิกะ เกิดเมื่อปี พ.ศ.100-200 ส่วน 11 นิกายที่แตกมาจากเถรวาท เกิดเมื่อปี พ.ศ. 200 เป็นต้นมา (มหาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย, 2550 : 74)
แต่ละนิกายที่แตกย่อยออกไปนั้นต่างมีความเห็นแตกต่างกันทางด้านอุดมคติ การตีความของพระธรรมวินัยไปต่างๆนาๆ และนำไปสู่การปฏิบัติที่ต่างกันอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับ สิริวัฒน์ คำวันสา (2545:66-68) ได้กล่าวไว้ว่า การแตกแยกในครั้งนั้นได้แยกออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มของพระยสกากัณฑบุตรและกลุ่มภิกษุวัชชีบุตร โดยเรียกกลุ่มแรกว่าเป็นนิกาย เถรวาท(สถวีรวาท ในภาษาสันสฤต) เพราะเป็นกลุ่มอนุรักษ์แนวคิดของกลุ่มพระเถระผู้ทำสังคายนาครั้งแรกที่มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ซึ่งพยามรักษาคำสอนดั้งเดิมไว้มากที่สุด และเรียกกลุ่มหลังว่าเป็นนิกาย อาจริยวาทเพราะเป็นกลุ่มที่ถือเอาความคิดของอาจารย์ของตนเป็นหลัก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นนิกาย มหาสังฆิกะเพราะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนของพระภิกษุมาก ต่อมานิกายทั้งสองได้เกิดการแตกออกอีกซึ่งนิยมถือกันว่ามีถึง 18 นิกาย แต่ในความจริงน่าจะมีมากกว่านั้น
ในกรณีความเห็นต่างเรื่องการรับเงินรับทอง ต้องดูสภาพสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่นในสมัยพุทธกาลมีพระพุทธเจ้าอยู่เป็นหลักให้กับพระพุธศาสนา ด้วยบารมีของพระองค์ ทั้งเศษรฐีและกษัตริย์มีความศรัทธามาก จึงไม่มีปัญหาการดำรงชีพของสมณะ ทุกอย่างไม่ขลาดแคน แต่หลังพุทธกาลพอไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว ความศรัทธาของญาติโยมก็ไม่เหมือนตอนพุทธกาล เพราะสังคมมันเปลี่ยน เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้บอกกับพระอานนท์ว่าอานนท์หากสงฆ์เห็นสมควร ให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ คือพระองค์อนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ผ่านมาพระอานนท์ลืม ตอนสังคายนาครั้งแรก พระอานนท์ก็ตอบไม่ได้เพราะลืมถามพระพุทธเจ้า พระวินัยเป็นสิ่งที่คอยร้อยรัดพระสงฆ์ให้อยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นเรื่องการปฏิบัติจะมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ในทางวินัยจะมีความเห็นต่างกัน พระมหากัสสปะเสนอว่าสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วจะไม่เพิกถอนและจะสมาทานสิกขาบทนั้น สงฆ์มีมติจึงเห็นด้วยจึงไม่มีการเพิกถอนพระวินัย เรื่องนี้มีการจารึกไว้ในพระไตรปิฎกปรากฏกในปัญจสติก ขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 442/ 383) จึงเป็นหลักปฏิบัติตามมาของเถรวาท แต่เจตนาของพุทธเจ้าคือเมื่อสังคมเปลี่ยนไปก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองการณ์ไกล แต่ในส่วนที่พระกัสสปะไม่ยอมแก้ก็เป็นส่วนที่ดี ทำให้เถรวาทยังคงรักษาพระวินัยดั้งเดิมไว้ แต่ตัวพระวินัยก็ยึดหลักไว้ แต่ในเชิงปฏิบัติก็ยืดหยุ่นได้โดยการมองทุกอย่างไปในทางเจตนารมณ์ ไม่ใช่ไปดูถูกคนแบบแข็ง แต่ดูเจตนารมณ์เพื่อเอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจและการเผยแพร่พระพุทธศาสนาก็ แต่ถ้าหากมีใครถือ แบบเคร่งครัดเกินก็จะเกิดการแตกแยกทันที นี่คือบทเรียนจากครั้งพุทธกาล


การสังคายนาครั้งที่ 1

การสังคายนาในครั้งพุทธกาลมีปรากฏในสังคีติสูตร (ที.ปา. (ไทย) 10/ 296-349/ 247-366) กล่าวไว้ว่า พระสารีบุตรได้ปรารภเรื่องปัญหาของศาสนาเชนที่เกิดขึ้นนั้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผน โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรง มาจัดเป็นหมวดหมู่ ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (2554:13) กล่าวไว้ว่า วิธีรักษาพระธรรมวินัย ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ แล้วจัดหมวดหมู่ให้กำหนดจดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว แล้วสวดสาธยายพร้อมกันแสดงความยอมรับเป็นแบบแผนเพื่อทรงจำสืบต่อกันมา วิธีการนี้เรียกว่า สังคายนา หรือ สังคีติซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า การสวดพร้อมกัน (จาก สํ พร้อมกัน” + คายน หรือ คีติ การสวด”)
การสังคายนาในพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นวิธีการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติมตามใจชอบ เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อมทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม
ในการทำสังคายนาที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกนิกายคือการสังคายนาครั้งที่ 1 และครั้งที่ที่ 2 ส่วนการสังคายนาครั้งที่ 3 นั้นยอมรับเฉพาะฝ่ายเถรวาท และในส่วนการสังคายนาครั้งที่ 4 นั้นฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับ เพราะถือว่าเป็นส่วนของมหายานที่แยกออกมา
จากข้อมูลในสังคีติสูตรนั้น แม้ว่าพระสารีบุตรได้แสดงตัวอย่างวิธีการทำสังคายนาไว้แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ต่อมาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือนได้เกิดการทำสังคายนาขึ้น มีเรื่องราวปรากฏในปัญจสติก ขันธกะ (วิ.จู. (ไทย) 7/ 437-445/ 375-392) ว่าด้วยมูลเหตุการณ์ทำสังคายนาครั้งที่ 1 มีเนื้อหาโดยรวมคือ พระมหากัสสปเถระ เมื่อทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้นมีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า กล่าวจ้าบจ้วงพระธรรมวินัย พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็ยังมีคนคิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา ท่านจึงวางแผนว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ จะชวนให้มาประชุมกันมาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวมประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำสังคายนาแต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย เมื่องานถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ท่านก็ดำเนินงานตามที่ได้คิดไว้คือได้ชักชวนนัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่เพื่อจะทำการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง 3 เดือน ก่อนที่จะประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ นอกเมืองราชคฤห์ ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรูในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ พระมหากัสสปเถระ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถามหลักคำสั่งสอน ซึ่งพระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น 2 ส่วน คือ พระธรรมและวินัย ในการสังคายนาครั้งนี้ มีการเลือกพระเถระ 2 รูป ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของพระธรรมวินัย ฝ่ายธรรมก็คือพระอานนท์ ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้ว พระอรหันต์ 500 รูป ก็เริ่มประชุมกัน จากนั้นก็ให้พระเถระทั้งสองรูปนำพุทธพจน์มาสาธยายแสดงแก่ที่ประชุม โดยประธานในที่ประชุมคือพระมหากัสสปะ วางแนวการนำเสนอด้วยการซักถามอย่างเป็นระบบ คือตามลำดับและเป็นหมวดหมู่พุทธพจน์
          ในระหว่างสังคายนา พระอานนท์ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า พระสัมมาพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่า ถ้าสงฆ์เห็นสมควรก็สามารถเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ประชุมความเห็นไม่ตรงกันว่าสิกขาบทเล็กน้อยนั้นหมายถึงสิกขาบทข้อใดบ้าง พระมหากัสสปะจึงสรุปว่าจะไม่เพิกถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว และจะไม่บัญญัติสิกขาบทที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งที่ประชุมสงฆ์ก็รับรองเป็นเอกฉันท์ จึงเป็นหลักปฏิบัติต่อมาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทจนมาถึงปัจจุบัน การทำสังคายนาครั้งนี้ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น
          หลักจากนั้นไม่นาน ก็มีพระเถระชื่อ พระปุราณะ พร้อมลูกศิษย์ 500 รูป เดินทางสู่เชตวัน กรุงราชคฤห์ พระที่ร่วมกันสังคายนาก็ได้ไปแจ้งให้ทราบว่าได้ทำสังคายนาเสร็จแล้ว ขอให้ท่านรับมติของสงฆ์ด้วย แต่พระปาณะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระทั้งหลายสังคายนาพระธรรมและวินัยดีแล้ว แต่ท่านจะทรงจำไว้ตามที่ได้ยินเฉพาะพระพักตร์ (วิ.จู. (ไทย) 7 / 444/ 385-386) พระปุราณะมีความเห็นส่วนใหญ่ตรงกับการสังคายนาครั้งนี้ แต่มีเพียงเรื่องกถาวัตถุ 8 ที่เป็นพุทธานุญาตพิเศษเมื่อคราวเกิดทุพพภิขภัย แต่ในภายหลังทุพพภิกขภัยสงบลงพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามกถาวัตถุ 8 พระปุราณะและศิษย์คงไม่ทราบตอนที่พระพุทธองค์ทรงห้ามจึงยังคงถือปฏิบัติตามที่ได้สดับมาจากพระพุทธองค์ (วิ.มหา. (ไทย) 5/ 274/ 72)
ด้วยเหตุนี้เองความเห็นต่างในเรื่องข้อปฏิบัติ (สีลสามัญญตา) เกิดขึ้นตั้งแต่การสังคายนาครั้งแรก แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการแตกนิกาย 
มูลเหตุการณ์สังคายนาครั้งที่ 1
1. มูลเหตุในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นจากกรณีการจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ฟังแล้งก็รู้สึกสลดใจ ดำริว่าหากปล่อยไว้นานเข้า คำสอนของพระพุทธศาสนาอาจถูกบิดเบือนไปได้ 
2. เพื่อความยั่งยืนของพระธรรมวินัย และความถูกต้อง
3. เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า (เสถียร โพธินันทะ.2543:56)
ผลที่เกิดจากการสังคายนาครั้งที่ 1
1. เกิดการเรียบเรียงพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ก็ยังทำให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา มีการพระวินัยและพระธรรมเป็นหมวดหมู่ มีการปรับอาบัติพระอานนท์ มีการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ มีการยอมรับมติของพระมหากัสสปะให้คงสิกขาบทเดิมไว้ทั้งหมด
2. ในการสังคายนาครั้งนี้ทำให้เกิดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือยึดถือคำสอนตามหลักการของพระเถระ 500 รูป ที่ประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งถูกเรียบเรียงเป็นพระสูตรและพระวินัยเกิดขึ้น ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ จึงมีการท่องจำสืบต่อกันมาและถือตามนั้นโดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
3. เกิดความเห็นต่างในเรื่องทิฏฐิสามัญญตา(ความเห็น) และสีลสามัญญตา(ข้อปฏิบัติ) ไม่ตรงกัน จะเห็นได้จากกรณีเหตุการณ์ของพระปุราณะและลูกศิษย์ แม้ในขณะนั้นยังไม่เกิดการแตกนิกายก็ตาม แต่มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการสังคายนาและการแตกนิกายในครั้งต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับ เสถียร โพธินันทะ (2543:56) กล่าวไว้ว่าในการสังคายนาครั้งที่ 1 เกิดจากการทำสังคายนาเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภิกษุอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เข้าประชุม และในจำนวนนั้นมีบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการสังคายนาของฝ่ายพระมหากัสสปะ โดยเฉพาะสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดความคิดเห็นในข้อปฏิบัติที่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการสังคายนาครั้งต่อๆ มา จนนำมาสู่การแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากหมายมาถึงปัจจุบัน
4. เป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันว่า พระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วจะเป็นศาสดาแทนพระองค์สืบต่อมา ถึงแม้ว่าพระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม
5. เป็นการป้องกันการกล่าวว่าร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร้เหตุผลในอนาคต


การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน พบว่าแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายานนี้มีพัฒนาการมาจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการคือ มาจากการพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมพระพุทธศาสนาเอง อิทธิพลของศาสนาฮินดูที่แทรกซึมปะปนเข้ามา อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรมเปอร์เซีย รวมถึงอิทธิพลของศิลปกรรมกรีกโบราณด้วย มหายานให้ความสำคัญกับบารมีธรรม เพราะเป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญพร้อมกับช่วยเหลือสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ไปด้วย จึงทำให้พระโพธิสัตว์สูงกว่าพระอรหันต์และพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งต่างกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยเถรวาทเชื่อว่าบารมีเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาแล้วไม่สำคัญเท่ากับธรรมที่บำเพ็ญก่อนจะตรัสรู้ มหายานยึดหลักประโยชน์เป็นสำคัญเรียงจากต่ำไปหาสูง คือเพื่อประโยชน์ตนเพื่อนิรวาณและเพื่อสรรพสัตว์ บารมีของพุทธมหายานส่วนใหญ่ถือว่ามี 6 แต่บางคัมภีร์เพิ่มเป็น 10 ตามแบบอย่างเถรวาท การเผยแผ่ธรรมของพระโพธิสัตว์ในมหายานนั้นทำให้ทราบถึงบทบาทการเผยแผ่ธรรมในจำนวนหลักธรรมทั้ง 10 ข้อ เนื่องจากว่ามหายานให้ความสำคัญกับแนวคิดพระโพธิสัตว์ที่ทุกคนมีโพธิจิตสามารถบำเพ็ญบารมี เพื่อเข้าถึงพุทธภาวะได้ พร้อมกับช่วยเหลือสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ก่อนตนขอพ้นทุกข์ในภายหลัง ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนามหายานให้ความสำคัญแก่สังคมทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลักนั้น เพราะใช้หลักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับแรก เป็นพื้นฐาน
15
 
สำคัญต่อทุกคำสอนของพุทธศาสนามหายานที่มุ่งบำเพ็ญบารมีตามหลักพระโพธิสัตว์ทำให้พระพุทธศาสนามหายานเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน
สิ่งนี้ที่ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของพุทธศาสนามหายานที่สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเชิงรุก สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายกว่าเถรวาทโดยยึดเอาบุคคลเป็นหลัก คำนึงถึงสติปัญญาความคิดความรู้และความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ แทนที่จะปรับบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์ แต่ปรับพระพุทธพจน์เข้าหาบุคคล เพื่อประโยชน์แก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ ดังนั้นเราต้องไม่นับถือพระพุทธศาสนาเพียงเพื่อต้องการยกย่องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อลบล้างหรือต่อต้านอีกสิ่งหนึ่ง หรือตามกระแสค่านิยม เพราะจะทำให้เราไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย มีแต่จะสร้างความขัดแย้งและการแตกแยกกันขึ้นในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน สถาปนาตนเองเป็นประดุจพระโพธิสัตว์ที่มีหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ พระพุทธศาสนาก็จะได้รับการปกป้องรักษา และเผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กว้างไกลสู่ใจชาวโลกทุกคน

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ครั้งหนึ่ง...ในสมัยพุทธกาล
เทวดาได้ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
                อะไรหนอเป็นมิตรของคนเดินทาง
           อะไรหนอเป็นมิตรในเรือนของตน
           อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้น
           อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า.
         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                พวกเกวียน พวกโคต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง
          มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
          สหายเป็นมิตรของคนผู้มีธุระเกิดขึ้นเนือง ๆ
          บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า.

คนสมัยก่อนเวลาจะเดินทางไกลต้องไปกันเป็นหมู่ เป็นคณะใหญ่ ถ้าให้เดินทางคนเดียวหรือไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็จะไม่ไปเพราะตลอดเส้นทางมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน
แต่ถ้าได้เกวียนเป็นยานพาหนะแม้ไปคนเดียวก็กล้าไป เพราะเสียงโคลากเกวียนจะทำให้สัตว์ร้ายกลัว โจรห้าร้อยที่ดักซุ้มอยู่ระหว่างทางก็ไม่กล้าเข้ามาปล้น ทำให้การเดินทางไปถึงที่หมายด้วยความปลอดภัย พวกเกวียนและโคจึงได้ชื่อว่าเป็นมิตรในการเดินทาง

เมื่อโรคที่น่ารังเกียจเกิดขึ้นในร่างกายของเรา
คนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพี่น้องของเรา บุตรหรือคู่ชีวิตของเราอาจจะรังเกียจ
แต่ผู้เป็นมารดาจะไม่รังเกียจ และจะมองว่าของที่ไม่สะอาดของบุตรเป็นราวกับว่าของมีค่า
เพราะฉะนั้น มารดาจึงได้ชื่อว่าเป็นทั้งมิตร เป็นทั้งสหายในเรือนของตน

คนที่ขยันจัดงาน หรือมีกิจธุระมาก ย่อมต้องการคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ บุคคลใดเข้ามาอาสาช่วยเหลือนำกิจนั้นไปทำให้สำเร็จ บุคคลนั้นชื่อว่าสหาย ชื่อว่ามิตร
เพราะเป็นผู้ที่ทำกิจทั้งหลายให้สำเร็จร่วมกัน. ตรงกันข้ามถ้าบุคคลใดเป็นสหายเฉพาะช่วงดื่มน้ำเมา  บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นมิตร


สุดท้ายของสิ่งมีชีวิตในโลกใบนี้เมื่อเกิดมาแล้วต้องตาย สิ่งของทุกอย่างที่เคยเป็นของเราเมื่อตอนยังมีชีวิตอยู่ เวลาเราตายสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป เพื่อนที่เราต้องการที่สุดในยามที่เราต้องเดินทางของจากร่างไปนั้นก็คือบุญกุศล เพราะบุญกุศลที่เราทำไว้ดีแล้ว จะเป็นมิตรแท้ที่ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ