วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558


ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จไปที่โรงฉันทรงเห็นพระนันทะกำลังแสดงธรรมอยู่ 
จึงไม่เข้าไปข้างใน ทรงยืนฟังธรรมกถาอยู่ภายนอกโรงฉันนั้นตลอด ๓ ยาม (ตลอดทั้งคืน)
เมื่อพระนันทะแสดงธรรมจบ พระองค์ทรงประทานสาธุการแล้วเสด็จเข้าไปข้างใน
ฝ่ายพระนันทะเมื่อได้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ก็รีบออกไปรับพร้อมกับถวายบังคม แล้วทูลถามว่า พระองค์เสด็จมาตั้งแต่เมื่อไร 
พระองค์ตรัสตอบว่า มาตั้งแต่เธอเริ่มแสดงธรรม แล้วตรัสต่อไปว่า
ถ้าเธอสามารถแสดงธรรมอยู่ได้ตลอดกัปป์ (นานมาก) เราก็จะพึงยืนฟังอยู่ตลอดกัปป์ เพราะตถาคตทั้งหลายเคารพในธรรม ( ๑๘/๓๒๐)

จากเรื่องนี้นอกจากจะทำให้เราได้รู้ถึงความเคารพในธรรมของพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังทำให้ได้ข้อคิดอีกว่า สิ่งที่เราต้องการยกย่องเชิดชูให้คนทั่วไปเคารพนับถือนั้น หากตัวเราเองยังไม่เคารพนับถือเสียเอง แล้วใครที่ไหนเล่าจะมาเคารพนับถือ


วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

เหตุที่มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน
แนวคิดสังคมนิยม หรือแนวคิดคอมมิวนิสต์ เป็นแนวคิดที่ คาร์ล มาร์ก คิดค้นขึ้น เพราะมีความปรารถนาให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่เท่าเทียมกัน  ซึ่งเขาลืมคิดไปว่ามนุษย์แต่ละคนที่เกิดมานั้น
มีต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน เมื่อมนุษย์มีต้นทุนของชีวิตแตกต่างกันจะให้ใช้ชีวิตเหมือนกันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สุดท้ายแนวคิดสังคมนิยมก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเป็นจริงอย่างที่ได้เห็นในปัจจุบัน


สาเหตุที่ทำให้มนุษย์แต่ละคน (แม้กระทั่งฝาแฝด) ไม่เท่าเทียมกัน

ช่วงประมาณ พ.ศ. ๕๐๐  กษัตริย์มิลินท์เดอร์ แห่งสาคลนคร ได้ถามปัญหากับพระนาคเสนว่า
เพราะเหตุใด มนุษย์ทั้งหลายจึงเกิดมาไม่จึงเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน คือ มนุษย์บางคนมีอายุน้อยก็มี มีอายุยืนยาวก็มี มีอาพาธมากก็มี มีอาพาธน้อยก็มี มีผิวพรรณวรรณะไม่ดีก็มี มีผิวพรรณวรรณะดีก็มี มีศักดิ์น้อยก็มี มีศักดิ์ใหญ่ก็มี มีโภคทรัพย์น้อยก็มี มีโภคทรัพย์มากก็มี มีตระกูลต่ำก็มี มีตระกูลสูงก็มี ไม่มีปัญญาก็มี มีปัญญาก็มี ฯ

พระนาคเสนไม่ได้ตอบในทันที แต่ท่านถามกษัตริย์มิลินท์เดอร์กลับไปว่า  เพราะเหตุไรต้นไม้ทั้งหลายจึงไม่เหมือนกันทั้งหมด บางต้นมีรสเปรี้ยวก็มี มีรสขมก็มี มีรสเผ็ดก็มี มีรสฝาดก็มี มีรสหวานก็มี ฯ
กษัตริย์ตอบว่า  "โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะความต่างกันของสายพันธุ์"
พระนาคเสนจึงกล่าวสรุปว่า ความแตกต่างนี้ฉันใด ข้อที่พระองค์สงสัยก็ฉันนั้นแหละ คือ มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน เพราะมนุษย์มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตามจะต้องได้รับผลของกรรม


เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เราคือผู้ออกชีวิตของตัวเองโดยแท้ เกิดมาในชาตินี้เป็นอย่างไรก็เพราะได้ประกอบกรรมเอาไว้อย่างนั้นในชาติปางก่อน ถ้ารู้สึกว่าเกิดในชาตินี้แล้ว ชีวิตยังไม่สมบูรณ์ก็ให้เริ่มออกแบบชีวิตของตัวใหม่ เอาให้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ชาตินี้ไปเลย